สถาบันนโยบายสาธารณะ (สนส. ม.อ.)

งานบริหาร โครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่ พหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้

จัดประชุมติดตามความก้าวหน้าผลการดำเนินงานโครงการ ครั้งที่ 112 พฤศจิกายน 2561
12
พฤศจิกายน 2561รายงานจากพื้นที่ โดย วราภรณ์
circle
วัตถุประสงค์

เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานพัฒนาระบบริการสุขภาพให้สอดคล้องกับพื้นที่พหุวัฒนธรรม รพ.

circle
กิจกรรมตามแผน

circle
กิจกรรมที่ปฎิบัติรายละเอียดของการทำกิจกรรมที่ได้ปฎิบัติจริง

1.ชี้แจงแนวทางการประชุม 2.นำเสนอผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รพ. ละ 20 นาที) 3.ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้

circle
ผลลัพธ์ที่ตั้งไว้

 

circle
ผลที่เกิดขึ้นจริงผลผลิต (Output) / ผลลัพธ์ (Outcome) / ผลสรุปที่สำคัญของกิจกรรม

ประเด็นสำคัญ การประชุมติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งที่ 1 มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามผลการดำเนินงานปัญหาและอุปสรรคของโรงพยาบาลภาคีเครือข่ายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส) และร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์อภิปรายผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อต่อยอดการเรียนรู้ขยายผลสู่ชุมชน ตลอดจนวางแผนแนวทางการดำเนินงานในปี 2562 โดยมีประเด็นสำคัญในการประชุมดังนี้
1. นำเสนอผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยโรงพยาบาลภาคีเครือข่าย
  1.1 โรงพยาบาลเทพา จังหวัดสงขลา
      โครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพของผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาโรงพยาบาลได้เก็บข้อมูลสถานะสุขภาพของประชากรในพื้นที่อำเภอเทพา พบว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มประชากรผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว อาทิ โรคสมองฝ่อ โรคความดันโลหิตสูง และโรคมะเร็งที่มีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้น สาเหตุการเสียชีวิตของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ได้แก่ โรคมะเร็ง    หลอดเลือดสมอง และโรคไตวาย โรงพยาบาลได้พัฒนาระบบบริการสุขภาพของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ผ่านการจัดอบรมบุคลากร เจ้าหน้าที่ ใช้หลักการศาสนาบูรณาการร่วมกับกระบวนการรักษาทางการแพทย์ “บูรณาการวิถีพุทธและวิถีมุสลิม รุ่นที่ 1” จากผลการดำเนินงาน มีบุคลากรและเจ้าหน้าที่เข้าร่วมการอบรมคิดเป็นร้อยละ 83.5    ผู้เข้าอบรมเข้าใจในหลักการแนวคิดและหลักการศาสนาเพื่อนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย รวมทั้งมีความตื่นตัวในการทำงานเชิงรุก นำเอาวิถีชุมชนมาปรับใช้ในการดูแลผู้ป่วย ทั้งนี้การประเมินผลและติดตามใช้วิธีการถอดบทเรียนผ่านกระบวนการ Care Process ซึ่งระบบการประเมินผลและติดตามแต่เดิมนั้นเน้นการประเมินทางด้านร่างกายซึ่งแตกต่างจากระบวนการ Care Process
กระบวนการ Care Process เน้นการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่สอดรับกับความคิด ความเชื่อ หลักการศาสนา และวิถีชุมชน มองสุขภาพให้เป็นส่วนหนึ่งของระบบสุขภาวะ ผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะได้รับบริการสุขภาพโดยไม่แบ่งแยกชนชั้น เชื้อชาติ และศาสนา พร้อมทั้งปลูกฝังทัศนคติ ผู้ให้บริการในแง่บวก ปรับบุคลิกภาพ ท่าทาง และภาพลักษณ์ในการให้บริการ เปรียบผู้ป่วยเสมือนญาติมิตร
ด้านการเข้าถึงการบริการ โรงพยาบาลให้ความสำคัญในประเด็นการใช้ยาที่ปลอดภัยของผู้ป่วยโดยจ่ายยาสมุนไพรร่วมกับยาแผนปัจจุบัน สร้างช่องทางการเข้ารับการบริการสุขภาพที่ทั่วถึงโดย    ทีมสหวิชาชีพลงพื้นที่เยี่ยมบ้านผู้ป่วยระยะสุดท้ายบูรณาการตามหลักการพหุวัฒนธรรม ส่วนผู้ป่วยที่นอนพักฟื้นในโรงพยาบาล ได้อำนวยความสะดวกให้มีการจัดกิจกรรมสำคัญทางศาสนา อาทิ ศาสนาพุทธ จัดให้มีกิจกรรมการทำบุญถวายสังฆทาน นิมนต์พระมาจำเริญอายุ การจัดกระบวนการเจริญสติของผู้ป่วย ศาสนาอิสลาม จัดให้มีกิจกรรมการอ่านบทสวดดุอาห์เพื่อขอพรต่อพระเจ้าสร้างความรู้สึกที่ดีและที่พึ่งทางใจแก่ผู้ป่วย การปฏิบัติศาสนกิจขณะรักษาตัว นอกจากการจัดบริการตามแนวทางทางศาสนาแล้ว โรงพยาบาลได้จัดให้มีบริการทางเลือกอื่นในการบำบัดรักษา อาทิ การบำบัดรักษาตามความเชื่อของวิถีชุมชน การดูหมอมโนราห์  เป็นต้น เป็นการปรับแนวความคิดในการรักษาเชิงจิตวิทยา ทั้งนี้กิจกรรมการดำเนินงานพัฒนาเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของทีมสหวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบปัญหาบุคลากรยังขาดองค์ความรู้ ขาดประสบการณ์ วิสัยทัศน์ในการมองประเด็นปัญหาที่ไม่ครอบคลุมต้องอาศัยการจัดอบรมให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง
  แนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 ดำเนินการรวบรวมข้อมูลปัญหาและอุปสรรคในปีที่ผ่านมาทำเป็นคู่มือการพัฒนาระบบการบริการผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์เก็บข้อมูล      เชิงลึกจากผู้ปฏิบัติงาน ผู้ป่วย และญาติผู้ป่วย รวมทั้งวางแนวทางขยายผลการดำเนินงานลงสู่พื้นที่ชุมชนขณะนี้กำลังดำเนินงานในขั้นตอนประชุมหารือกับผู้บริหารถึงแนวทางการนำผลลัพธ์ที่ได้ขยายผลต่อยอดสู่ชุมชน  เชิญผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา เข้าร่วมหารือ คาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการตามแผนดำเนินงานในเดือนธันวาคม 2561
  1.2 โรงพยาบาลยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี
ดำเนินกิจกรรม 1.จัดเวทีชุมชน 2.อบรมหลักธรรม 3.Smart Kids
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ลงพื้นที่จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประกอบไปด้วย บุคลากรและเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ชาวบ้านในพื้นที่ เพื่อรับฟังความต้องการของประชาชน ได้ผลสรุป คือ ประชาชนต้องการบริการที่เน้นการดูแลที่เข้าถึงชาวบ้าน เป็นกันเอง ให้เกียรติและมีทัศนคติ    การบริการเชิงบวก จัดกิจกรรมสานสัมพันธ์ระหว่างผู้รับบริการ บุคลากร และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข อาทิ กิจกรรมการกวนอาซูรอ ซึ่งจัดให้มีการทำร่วมกันทุกปี ในปีนี้จะมีนักศึกษาจากอินโดนีเซียเข้าร่วมการกวน  อาซูรอด้วย
ด้านการเข้าถึงการบริการ โรงพยาบาลจัดระบบการบริการแบบ One Stop Service โดยมีช่องทางพิเศษเพื่อให้บริการแก่ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็ก ปรับเปลี่ยนช่วงเวลาการเข้ารับบัตรคิวให้มีช่วงระยะเวลาเพิ่มขึ้น การให้บริการผู้ป่วยดำเนินโครงการปรับเปลี่ยนบุคลิกภาพของเจ้าหน้าที่ “แนวคิดนางฟ้าพยาบาล” บริการด้วยรอยยิ้ม สวัสดีทักทายให้สลาม บริการดี มีความสุข มีจิตอาสาในการรับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลและองค์ความรู้ให้แก่ผู้เข้ารับการบริการ อาทิ ข้อมูลความรู้เรื่อง NCD อนามัยแม่และเด็ก โรคหัด รวมถึงจัดทำช่องทางการสื่อสารความเสี่ยง ประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย จัดทำสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ในประเด็นสถานการณ์ระบบสุขภาพในพื้นที่ การแพร่ระบาดของโรค และประเด็นสิ่งแวดล้อมกับระบบสุขภาวะ อาทิ การคัดแยกขยะอันตรายในชุมชน เป็นต้น
แนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจ อาทิ ศาสนาอิสลาม จัดให้มีการจัดกิจกรรมละหมาดตอรอเวี๊ยะ ในเดือนรอมฏอน จัดเวทีสำรวจความคิดเห็นเพื่อติดตามประเมินผลการดำเนินงาน รับฟังเสียงสะท้อนจากชาวบ้าน ผู้รับบริการ และนำมาปรับปรุงต่อยอดการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่พหุวัฒนธรรมอำเภอยะหริ่ง
        1.3 โรงพยาบาลสตูล จังหวัดสตูล โรงพยาบาลสตูลเป็นโรงพยาบาลนำร่องภายใต้โครงการของสถาบันวิจัยระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจ.รส.มอ.) มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นำผู้เกี่ยวข้องเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา มีกิจกรรมภายใต้โครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรม รวมทั้งสิ้น 11 โครงการ
ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา นำแนวคิดและหลักการศาสนามาปรับใช้กับระบบการบริการสุขภาพ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย บุคลากรและเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาล อาทิ ศาสนาอิสลาม มีการเปิดเสียงอาซานให้ผู้ป่วยสามารถได้ยินชัดเจนเมื่อถึงเวลาปฏิบัติศาสนกิจ มีห้องละหมาดของโรงพยาบาล ในช่วงเดือนรอมฎอนจะมีการบอกเวลาละหมาด/ละศีลอด ขายอาหารซะโฮร์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วย แจกอาหารและขนมในช่วงเทศกาลวันอีตอิดิ้ลฟิตรี และวันอีตอิดิ้ลอัฎฮา จัดให้มีอาสาสมัครอ่านยาซีนเพื่อสร้างความสงบและสบายใจให้แก่ผู้ป่วยรวมถึงญาติผู้ป่วย ในส่วนการดำเนินงานของศาสนาพุทธ      ทางโรงพยาบาลได้ทำการนิมนต์พระภิกษุเพื่ออ่านพระสูติให้ผู้ป่วยฟังสร้างความสงบและสบายใจ การตักบาตรในตึกอาคารผู้ป่วยใน เป็นต้น เป็นแนวทางการดำเนินงานที่เน้นรักษาและฟื้นฟูสภาพจิตใจควบคู่กับสภาพร่างกาย ในกรณีที่ผู้ป่วยเสียชีวิตทางโรงพยาบาลมีการแจกผ้าขาวห่อศพ ผ้าแพรคลุมศพ ตลอดจนส่งตัวแทนเจ้าหน้าที่เข้าร่วมพิธีกรรมทางศาสนา มีชมรมศาสนาพุทธและชมรมศาสนาอิสลามของโรงพยาบาล อำนวยความสะดวกในการประสานงาน
ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน โรงพยาบาลสตูลไม่พบปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรม การดำเนินงานที่ผ่านมาทำให้ข้อร้องเรียนจากผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยในประเด็นความไม่สะดวกในการปฏิบัติศาสนากิจลดลง โรงพยาบาลได้อำนวยความสะดวกในการปฏิบัติศาสนกิจและพิธีกรรมทางศาสนาแก่ผู้เข้ารับบริการให้เกิดความสะดวก รวดเร็ว มีห้องละหมาด มีห้องสำหรับปฏิบัติธรรม ส่งผลให้ภาพลักษณ์ของโรงพยาบาลในทัศนคติของผู้รับบริการดีขึ้น ทั้งนี้โรงพยาบาลสตูลต้องการให้ ศบ.สต. สนับสนุนและผลักดันโครงการอย่างต่อเนื่อง
แนวทางการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 ขยายผลการดำเนินงานสู่ชุมชน ดำเนินโครงการอบรมเจ้าหน้าที่และบุคลากรของโรงพยาบาลให้มีองค์ความรู้ในการดำเนินงานบริการสุขภาพให้สอดคล้องกับพื้นที่พหุวัฒนธรรมรุ่นที่ 2 จัดระบบการประเมินผลและตัวชี้วัดของโครงการให้มีรูปแบบที่ชัดเจน จัดทำสื่อสาธารณะประชาสัมพันธ์กิจกรรมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเข้ามาพัฒนาระบบบริการสุขภาพ อาทิ การจัดกิจกรรมในเทศกาลหรือวันสำคัญทางศาสนา ตลอดจนอำนวยความสะดวกและปรับแนวทางการให้บริการเข้าสุนัตฟรีแก่เด็กมุสลิม เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางและหลักการของศาสนาอิสลาม
  1.4 โรงพยาบาลธารโต จังหวัดยะลา
  ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา เน้นจัดระบบบริการสุขภาพให้สอดคล้องกับสังคมพหุวัฒนธรรม เชื่อมโยงให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการนำเสนอและกำหนดนโยบายการดำเนินงาน โดยจัดกิจกรรมประชุมคณะกรรมการสภาพหุวัฒนธรรมที่ประกอบไปด้วย ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา ตัวแทนภาคประชาสังคม ตัวแทนภาคการศึกษา และชาวบ้านเข้าร่วม จัดกิจกรรมอำเภอยิ้ม จัดกิจกรรมอบรมและพัฒนาศักยภาพผู้รับผิดชอบงานอนามัยแม่และเด็กแก้ไขปัญหาพัฒนาการไม่สมวัยซึ่งเป็นปัญหาที่โรงพยาบาลต้องเร่งแก้ไข อบรมและถอดบทเรียนการดูแลสุขภาพเด็กตาดีกา พัฒนาระบบสุขภาวะและพัฒนาการสมวัยตามแนวทางศาสนา “กิน เล่น สอน กวดขัน และปฏิบัติ” ดำเนินการผ่านภาคีเครือข่ายผู้นำศาสนา รวมถึงอบรมผู้ปกครองให้มีความรู้ มีทักษะการดูแลสุขภาพควบคู่กับการนำแนวทางศาสนาเข้ามาปรับใช้
  ด้านการเข้าถึงการบริการ พัฒนาระบบทันตสุขภาพ โภชนการ และเสริมความรู้ผู้ปกครอง โดยมีตัวชี้วัดเด็กผ่านเกณฑ์การพัฒนาสุขภาพร้อยละ 80 ผู้ปกครองมีทัศนคติการดูแลสุขภาพในการดูแลบุตรหลาน มุมมองต่อการดูแลสุขภาพตามหลักการศาสนาเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น มีทัศนคติที่ดีต่อการดูแล        สุขภาวะภายใต้บริบทของสังคมพหุวัฒนธรรม ในกลุ่มประชากรที่เป็นเยาวชนวัยเรียน ดำเนินงานผ่านคณะกรรมการสภาพหุวัฒนธรรมจัดอบรมความรู้การดูแลสุขภาพ การกล่าวซิเกร รวมถึงหลักการสร้างครอบครัว สำหรับนักเรียนมัธยมปลายในสถานศึกษาเอกชนสอนศาสนา และสถานบันการศึกษาปอเนาะ
  ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาพบปัญหาการเชื่อมโยงการทำงานกับพื้นที่ยังขาดความต่อเนื่อง เนื่องจากการดำเนินงานส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่จัดเป็นบางวาระ บางครั้งคราว จำเป็นต้องบูรณาการให้กลายเป็นกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ ประกอบกับความสอดคล้องของแผนปฏิบัติการและระยะเวลาการดำเนินงานไม่เอื้อต่อกัน ทำให้ผลลัพธ์ยังไม่เกิดเป็นรูปธรรมชัดเจน      การติดตามและประเมินผลยังไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน จำเป็นต้องมีระบบการติดตามและประเมินผลเชิงลึก          ที่เป็นมาตรฐานเดียวกันในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
การดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 เติมเต็มการพัฒนางานอนามัยแม่และเด็ก จัดระบบการติดตามและประเมินผลเชิงลึกในพื้นที่ โดยเน้นความครอบคลุมและทั่วถึงเป็นสำคัญ จัดระบบบริการสุขภาพของโรงพยาบาลตามแผนกต่างๆให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่พหุวัฒนธรรม เพื่ออำนวยความสะดวก และจัดบริการที่สอดคล้องกับหลักการศาสนา
  1.5 โรงพยาบาลรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส   ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา จัดโครงการอบรมแกนนำบุคลากรสาธารณสุข เพื่ออบรมสุขภาวะตามแนวทางวิถีมุสลิม และวิถีพุทธ เชิญผู้นำศาสนาเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการดำเนินงาน การขับเคลื่อนประเด็นอนามัยแม่และเด็ก ANC โครงการอบรมโรงเรียนพ่อแม่เพื่อการดูลูกหลังคลอด โดยการนำวิถีชุมชนแนวทางความเชื่อมาประยุกต์การวิถีทางการแพทย์ อาทิ การดูแลเด็กหลังคลอดของโต๊ะบีแดประยุกต์กับวิธีการทางการแพทย์สมัยใหม่ ประเมินผลด้วยตัวชี้วัดแบบสอบถามสำหรับผู้เข้าร่วมอบรม
  ด้านการเข้าถึงการบริการ จัดกิจกรรม 3อ2ส เน้นการบริการที่คำนึงถึงความสะอาดและสิ่งแวดล้อมที่ดีเอื้อต่อการให้บริการ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงพื้นที่ชุมชนเพื่อสร้างต้นแบบสุขภาวะวิถีชุมชน ตลอดจนมีการประเมินภาวะอารมณ์ของเจ้าหน้าที่ผู้ใช้บริการตั้งแต่เริ่มปฏิบัติงานจนถึงสิ้นสุดการดำเนินงานในแต่ละวัน เพื่อเป็นการนำข้อมูลเหล่านั้นมาปรับปรุงแก้ไขกระบวนการให้บริการแก่ประชาชนต่อไป   ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน มุมมองความสุขของผู้ให้ ความแตกต่าง คือ โอกาส ความขาดแคลนไม่ใช่อุปสรรค การเรียนรู้จากสิ่งที่มีอยู่ และแลกเปลี่ยนจากมุมมองอื่นๆวิธีการบริหารจัดการภายในชุมชน ในการนำชุมชน
  2. ข้อเสนอแนะ   2.1 จากผลการดำเนินงานของโรงพยาบาลภาคีเครือข่ายพบว่าเกิดปัญหาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน มีข้อเสนอแนะให้โรงพยาบาลเครือข่ายจัดกิจกรรมโดยให้มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของโครงการ ซึ่งมีความแตกต่างกับโครงการศานสถานส่งเสริมสุขภาพ   2.2 ให้ผู้รับผิดชอบงานโครงการฯ ส่งเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายงบประมาณ ประจำงวดที่ 2 มายังผู้รับผิดชอบงานของศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.สต.) ภายในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2561 และทาง ศบ.สต. จะดำเนินการโอนงบประมาณ ประจำงวดที่ 3 ลงพื้นที่ต่อไป   2.3 วันที่ 15 ธันวาคม 2561 ศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศบ.สต.) มีกำหนดจัดการประชุมเพื่อให้โรงพยาบาลภาคีเครือข่ายนำเสนอสรุปผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561
มติที่ประชุมรับทราบ

circle
กิจกรรมตามแผน
circle
ประเมินความสำเร็จของการดำเนินกิจกรรม

บรรลุผลตามเป้าหมาย (3)

circle
กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วม
จำนวน 37 คน จากที่ตั้งไว้ 34 คน
ประกอบด้วย

ผู้เข้าร่วมประชุม จำนวน 37 คน
ประกอบด้วย 1.ผู้รับผิดชอบงานโครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในพื้นที่พหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ของโรงพยาบาล

circle
ปัญหา/แนวทางแก้ไข

ไม่มี

circle
ชื่อผู้ติดตามในพื้นที่ของ
-
circle
ข้อเสนอแนะต่อ

ไม่มี

circle
ข้อเสนอแนะต่อพื้นที่

ไม่มี