สถาบันนโยบายสาธารณะ (สนส. ม.อ.)

จลนพลศาสตร์การอบแห้งไข่น้ำและการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารปลาเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี ภายใต้โครงการบริการความรู้ นวัตกรรมสู่ชุมชน

จลนพลศาสตร์การอบแห้งไข่น้ำและการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารปลาเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี ภายใต้โครงการบริการความรู้ นวัตกรรมสู่ชุมชน

ข้อมูลโครงการ

ชื่อโครงการ จลนพลศาสตร์การอบแห้งไข่น้ำและการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารปลาเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี ภายใต้โครงการบริการความรู้ นวัตกรรมสู่ชุมชน
สถาบันอุดมศึกษาหลัก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา
หน่วยงานหลัก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์
หน่วยงานร่วม
ชื่อชุมชน กลุ่มสมาชิกผู้เลี้ยงปลาคาร์ฟตำบลดม อ.สังขะ จ.สุรินทร์
ชื่อผู้รับผิดชอบ นายประทีป ตุ้มทอง
ที่อยู่ผู้รับผิดชอบ คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์
ชื่อผู้ร่วมโครงการ/สาขา ผศ.ดร.กฤติมา เสาวกูล/ประมง
การติดต่อ
ปี พ.ศ. 2562
ระยะเวลาดำเนินโครงการ 1 พฤษภาคม 2562 - 30 กันยายน 2562
งบประมาณ 0.00 บาท

พื้นที่ดำเนินงาน

จังหวัดอำเภอตำบลลักษณะพื้นที่
สุรินทร์ สังขะ ดม place directions

รายละเอียดชุมชน

ข้อมูลพื้นฐาน
ข้อมูลศักยภาพ/ทรัพยากร
ข้อมูลประเด็นปัญหา
ข้อมูลความต้องการเชิงพื้นที่

ประเด็นปัญหาหลัก

ประเด็นที่เกี่ยวข้อง

องค์ความรู้หรือนวัตกรรมที่ใช้ในการดำเนินโครงงาน

ถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำแห้งผลิตภัณฑ์ไข่น้ำ การอนุบาลปลาคาร์ฟ การใช้ไข่น้ำเลี้ยงปลาคาร์ฟ และถ่ายทอดองค์ความรู้ในการให้สีและอัตราการรอดตายและอัตราการแลกเนื้อจากการใช้ไข่น้ำเลี้ยงปลา

รายละเอียดโครงการ/หลักการและเหตุผล

ปัจจุบันประเทศไทยจัดเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในด้านการพัฒนาการประมง จนสามารถติดอันดับหนึ่งในสิบของโลกที่มีผลผลิตสูงและยังติดอันดับต้นๆ ของผู้ส่งออกสินค้าประมงตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 (สนิท, 2555) แต่ในปัจจุบันอุตสาหกรรมการเลี้ยงปลาต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับต้นทุนของอาหารที่มีราคาแพงขึ้นทุกวันทำให้กำไรของเกษตรกรเหลือน้อยและบางครั้งถึงกับขาดทุน เกษตรกรจึงได้มีการนำเอาพืชมาใช้เป็นอาหารและเป็นส่วนผสมในการผลิตอาหารปลา ซึ่งพืชที่กล่าวถึงก็คือ ไข่น้ำหรือไข่ผำ เป็นพืชที่เกิดตามแหล่งน้ำทั่วไปและปัจจุบันนี้มีการเพาะเลี้ยงไข่น้ำเพื่อเป็นส่วนผสมของอาหารปลาคาร์ฟ ซึ่งในการนำไข่น้ำมาเป็นส่วนผสมของอาหารปลานั้นต้องผ่านกระบวนการลดความชื้นของไข่น้ำก่อนจึงจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่กระบวนการลดความชื้นของไข่น้ำที่เกษตรกรใช้กันนั้นก็คือการตากแดดโดยตรงซึ่งทำให้เกษตรกรประสบปัญหาในเรื่องของเชื้อราที่เกิดขึ้นกับไข่น้ำเนื่องจากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยส่งผลทำให้ไข่น้ำเน่าเสียและนำมาใช้ประโยชน์ไม่ได้
การลดปริมาณความชื้น (moisture content) หรือการอบแห้ง เป็นการเก็บรักษาและป้องกันการเน่าเสียของผลิตภัณฑ์ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง กระบวนการอบแห้งประกอบด้วย 2 กระบวนการที่สำคัญคือการถ่ายเทความร้อนจากแหล่งความร้อนสู่ผลิตภัณฑ์ และถ่ายเทความชื้นภายในเนื้อผลิตภัณฑ์มาที่ผิวและออกสู่อากาศภายนอกผลิตภัณฑ์ กระบวนการลดปริมาณความชื้นโดยทั่วไป ของเหลวภายในเนื้อผลิตภัณฑ์จะเคลื่อนที่ออกมายังพื้นผิวของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นผลมาจากแรงตึงผิว (surface force) ส่วนไอน้ำในเนื้อผลิตภัณฑ์จะเคลื่อนที่ออกมาเนื่องจากความแตกต่างของความเข้มข้นของความชื้น (vapor diffusion) และความดันไอ (partial pressure of vapor) ที่แตกต่างกันระหว่างไอน้ำในเนื้อผลิตภัณฑ์กับอากาศร้อน การลดลงของความชื้นในผลิตภัณฑ์จะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่ระยะเริ่มต้นของการอบแห้ง (initial period), ระยะอัตราการระเหยของไอน้ำคงที่ (constant-rate period) และระยะอัตราการระเหยของไอน้ำลดลง (falling-rate period) การลดความชื้นของผลิตภัณฑ์สามารถทำได้หลายวิธีด้วยกัน เช่น การอบแห้งด้วยไอน้ำร้อนยวดยิ่ง การอบแห้งด้วยไมโครเวฟ การอบแห้งด้วยสุญญากาศ การอบแห้งด้วยปั๊มความร้อนการอบแห้งด้วยลมร้อน การอบแห้งด้วยรังสีอินฟราเรด และการอบแห้งด้วยเทคนิคฟลูอิไดซ์เบดการอบแห้งในแต่ละวิธีก็จะมีข้อดีข้อเสียที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น การอบแห้งด้วยไอน้ำร้อนยวดยิ่ง การอบแห้งด้วยสุญญากาศ และการอบแห้งด้วยปั๊มความร้อน ซึ่งคุณภาพผลิตภัณฑ์ที่อบจากสามวิธีนี้จะดี แต่สำหรับข้อเสียก็คือ การมีระบบที่ซับซ้อนและต้นทุนที่สูง สำหรับการอบแห้งด้วยไมโครเวฟเป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่อบมีคุณภาพสูง แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในเรื่องความปลอดภัยจากคลื่นสนามแม่เหล็ก ทำให้ยังจำกัดการใช้อยู่แค่เตาอบขนาดเล็กสำหรับใช้ในห้องครัวการอบแห้งด้วยลมร้อนเป็นวิธีหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีต้นทุนในการสร้างเครื่องที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับวิธีอื่นๆ ที่ได้กล่าวมา เครื่องอบแห้งด้วยลมร้อนสามารถใช้แหล่งความร้อนได้จากหลายแหล่งที่หาได้ง่ายเช่น จากขดลวดความร้อนน้ำมันเชื้อเพลิงแอลพีจี (LPG) พลังงานแสงอาทิตย์ หรือความร้อนทิ้งจากกระบวนต่างๆ ในโรงงาน แหล่งพลังงานที่ถูกที่สุด ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ แต่ก็มีข้อจำกัด คือ ไม่สามารถทำได้หากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย ผลิตภัณฑ์ที่ได้ไม่สะอาดพอ และต้องใช้พื้นที่มาก ส่งผลให้อัตราการผลิตต่ำ การอบแห้งด้วยรังสีอินฟราเรด มีจุดเด่นตรงที่รังสีอินฟราเรดจะถูกแผ่ไปยังวัสดุซึ่งจะทำให้โมเลกุลของน้ำภายในวัสดุสั่น และเกิดความร้อนขึ้น ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิภายในวัสดุสูงกว่าอุณหภูมิที่ผิว ทำให้ผิวภายนอกวัสดุไม่เหี่ยวย่นซึ่งจะช่วยให้มีอัตราการอบแห้งที่สูงลดระยะเวลาการอบแห้งและพลังงานที่ใช้ด้วยนอกเหนือจากการอบแห้งด้วยวิธีการอบแห้งดังกล่าวแล้วก็ยังมีการอบแห้งด้วยวิธีเทคนิคฟลูอิไดซ์เบด ซึ่งการอบแห้งด้วยวิธีนี้เหมาะกับผลิตภัณฑ์ที่มีลักษณะเป็นเม็ดหรือเป็นผง ซึ่งการอบแห้งด้วยวิธีนี้เนื่องจากวัสดุถูกทำให้ลอยตัวส่งผลให้โอกาสที่วัสดุภายในเบดมีโอกาสสัมผัสกับอากาศร้อนมากกว่าเครื่องอบแห้งชนิดอื่น ผลที่ได้คือจะทำให้สัมประสิทธิ์การพาความร้อนสูงขึ้น การถ่ายเทความร้อนและมวลจึงสูงขึ้น ทำให้อัตราการอบแห้งสูงกว่าการอบแห้งด้วยวิธีอื่นๆ จากข้อดีตรงนี้เองโครงการนี้จึงมีแนวคิดที่จะหาแนวทางในการอบแห้งไข่น้ำเพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารปลา ด้วยเทคนิคฟลูอิไดซ์เบด และเทคนิคการใช้ลมร้อนร่วมพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อเป็นการลดต้นทุนการผลิต
ซึ่งการอบแห้งทั้ง 2 วิธี ได้แก่เทคนิคฟลูอิไดซ์เบด และลมร้อนร่วมพลังงานแสงอาทิตย์ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการวิจัยเพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่สุดในการอบแห้งไข่น้ำเพื่อการแปรรูปเป็นอาหารปลาคาร์ฟ จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ในขณะเดียวกันผู้รับผิดชอบโครงการนำองค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอนในรายวิชาการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเอกเทคโนโลยีเครื่องกล ซึ่งผู้รับผิดชอบโครงการเป็นผู้รับผิดชอบสอนรายวิชาดังกล่าวโดยตรง ซึ่งจะส่งเสริมให้นักศึกษาในรายวิชาเป็นวิทยากรร่วมในการบริการวิชาการสู่กลุ่มเป้าหมาย และจะส่งเสริมให้นักศึกษาพัฒนาองค์ความรู้ไปเป็นหัวข้อปริญญานิพนธ์ และเข้าร่วมนำเสนอผลงานทางวิชาการราชมงคลสุรินทร์วิชาการในโอกาสต่อไป ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นผู้รับผิดชอบโครงการคาดหวังว่าจะสามารถบูรณาการกับการเรียนการสอนการวิจัย และสามารถช่วยเหลือเกษตรกรในการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้กลุ่มสมาชิกผู้เลี้ยงปลาคาร์ฟได้ ยิ่งไปกว่านั้นเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพและคุณภาพของปลาคาร์ฟ ซึ่งจากผลงานวิจัยเรื่อง จลนพลศาสตร์การอบแห้งไข่น้ำด้วยลมร้อนเพื่อการถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวไว้ว่าการใช้ไข่น้ำเลี้ยงปลาคาร์ฟสามารถเพิ่มคุณภาพของสีและการเจริญเติบโตของปลาคาร์ฟได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีโปรตีนสูง (ประทีป และคณะ, 2560)
กลุ่มสมาชิกผู้เลี้ยงปลาคาร์ฟตำบลดม อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ จัดตั้งโดยนายพิทยา ตุ้มทอง ศิษย์เก่าสาขาวิชาเทคโนโลยีเครื่องกล คณะเกษตรศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาเขตสุรินทร์ สืบเนื่องจากการที่ สมัยยังเป็นนักศึกษาได้ทำปริญญานิพนธ์เรื่อง การศึกษาการอบแห้งไข่น้ำด้วยลมร้อน โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อหาจุดที่เหมาะสมที่สุดในการอบแห้งไข่น้ำสำหรับการนำไปเป็นส่วนผสมในอาหารปลาสำหรับการเลี้ยงปลาคาร์ฟ หลังจากสำเร็จการศึกษาออกไปจึงได้ไปทดลองเลี้ยงปลาคาร์ฟโดยใช้ไข่น้ำเป็นส่วนผสมในการอนุบาลลูกปลา ซึ่งผลที่ได้เป็นที่น่าพอใจทั้งต้นทุนการผลิต และคุณภาพของการเจริญเติบโตและการให้สีสันของตัวปลา แต่ก็ยังพบปัญหาเรื่องของต้นทุนการผลิตด้านอาหารปลา เนื่องจากมีลูกค้าต้องการเยอะส่งผลให้เร่งการผลิตและปัญหาที่ตามมาคือผลิตภัณฑ์อาหารปลาเก็บได้ไม่นานและมีเชื้อราขึ้น เกิดการเน่าเสีย ทำให้เสียลูกค้าและส่งผลกับตัวปลาที่มีอัตราการรอดลดลง และตายมากขึ้น ในขณะเดียวกันสมาชิกในกลุ่มอยากมีความรู้เรื่องด้านวิชาการให้ตรงประเด็นเกี่ยวกับการให้สีของปลาคาร์ฟเกี่ยวกับการใช้ไข่น้ำเลี้ยงปลา และการกำจัด ทำลาย และสร้างระบบนิเวศในบ่อปลาเกี่ยวกับการใช้ไข่น้ำเลี้ยงปลาด้วยระบบในตัวของมันเอง ในส่วนของลูกค้าของกลุ่มก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะเดียวกันสมาชิกในกลุ่มก็เพิ่มขึ้นเช่นกันสืบเนื่องจากการขยายเครือยข่ายจนตอนนี้ต้องการเพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มองค์ความรู้สำหรับการแนะนำและเสนอแนะการใช้ไข่น้ำเลี้ยงปลาคาร์ฟ ให้กับกลุ่มสมาชิก ซึ่งจากการลงพื้นที่ของผู้รับผิดชอบโครงการดังแสดงในภาพที่ 1, 2 และ 3 ผลปรากฎว่าเป็นจริงตามคำให้สัมภาษณ์ของหัวหน้ากลุ่ม ทั้งปัญหาเรื่องการทำแห้งไข่น้ำ การผสมกับส่วนผสมอาหารปลา การเลี้ยงปลา และการอนุบาลลูกปลายังเป็นปัญหาของกลุ่มสมาชิกที่ยังปฏิบัติไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการส่งผลให้อัตราการตายสูงขึ้น และผลิตภัณฑ์อาหารปลาเกิดการเน่าเสียส่งผลถึงการรอดชีวิตของปลาคาร์ฟด้วย
ดังนั้นโครงการนี้จึงมีแนวคิดที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีการทำแห้งผลิตภัณฑ์ไข่น้ำ การอนุบาลปลาคาร์ฟ การใช้ไข่น้ำเลี้ยงปลาคาร์ฟ และถ่ายทอดองค์ความรู้ในการให้สีและอัตราการรอดตายและอัตราการแลกเนื้อจากการใช้ไข่น้ำเลี้ยงปลา โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากสาขาประมง วิทยาเขตสุรินทร์ นำโดย ผศ.ดร. กฤติมา เสาวกูล หัวหน้าสาขาประมงและทีมงาน ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเลี้ยงปลาคาร์ฟ และยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหารปลาจากไข่น้ำ เพิ่มอัตราการรอดตายมากขึ้น ส่งผลให้สามารถสร้างงานสร้างรายได้ให้สมาชิก นอกจากนั้นแล้วเพื่อเป็นการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ในงานด้านการเพาะพันธุ์เลี้ยงปลาคาร์ฟ พร้อมกันนี้จัดให้เป็นแหล่งศึกษาดูงานของผู้สนใจ สร้างความเชื่อมั่นและความยั่งยืนให้กับกลุ่มสมาชิกผู้เลี้ยงปลาคาร์ฟต่อไป
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวข้างต้น กลุ่มสมาชิกผู้เลี้ยงปลาคาร์ฟบ้านดม มีความพร้อมในการเรียนรู้กระบวนการทำแห้งไข่น้ำและการแปรรูปเป็นอาหารปลาสำหรับการเลี้ยงปลาคาร์ฟ รวมไปถึงมีการส่งเสริมให้นำวัสดุอุปกรณ์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้เป็นวัสดุในการสร้างกระชังเลี้ยงปลา และนำพืช (ไข่น้ำ)ที่มีอยู่ในท้องถิ่นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาเป็นส่วนผสมของอาหารปลา ลดการใช้สารเคมีในกระบวนการเร่งการเจริญเติบโตของปลาและการเพิ่มสีสันของปลา มีการวางแผนงานการพัฒนาองค์ความรู้ ส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลาคาร์ฟ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสมาชิกให้มีความเหมาะสมกับพื้นที่ สร้างระบบการทำงานเป็นทีม แบ่งหน้าที่กันทำงาน และขยายกำลังผลิต สร้างเครือข่ายของกลุ่มผู้เลี้ยงปลาคาร์ฟ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน มีผลให้สร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มความเข้มแข็งให้กลุ่มสมาชิกฯ เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป กลุ่มสมาชิกเป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นใหม่ ไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐอย่างจริงจัง ส่วนมากกลุ่มสมาชิกฯ ก็จะลองผิดลองถูกกันเองแต่ก็เจอปัญหามากมายในการลองผิดลองถูก และเมื่อได้ทราบข่าวเกี่ยวกับโครงการบริการวิชาการจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ก็รอความหวังในการที่จะได้นักวิชาการมาช่วยกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งหากโครงการนี้ได้รับอนุมัติก็จะเป็นคุณประโยชน์สูงสุดของของกลุ่มสมาชิกในการที่จะแก้ปัญหาและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
แต่อย่างไรก็ตามการศึกษา การแก้ปัญหาคือการเรียนรู้ ทั้งนี้ต้องอาศัยขบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองบนพื้นฐานของวิชาการ ตลอดจนประสบการณ์ที่สั่งสมอย่างต่อเนื่อง จะทำให้กลุ่มสมาชิกผู้เลี้ยงปลาคาร์ฟมีความชำนาญ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สามารถดำเนินโครงการไปอย่างต่อเนื่อง ขยายวงกว้างไปยังตำบลข้างเคียง เพิ่มกำลังการผลิต ให้เพียงพอกับความต้องการ และสร้างความมั่นใจให้กับทางผู้ที่รักการเลี้ยงปลาคาร์ฟหรือปลาสวยงามที่มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือต่อไป

คำสำคัญเพื่อการค้นหา

  • การอบแห้งไข่น้ำ
  • ไข่น้ำ
  • ผลิตภัณฑ์อาหารปลา

ประเมินคุณค่าโครงการ

คุณค่าที่เกิดขึ้นผลที่เกิดขึ้น
1 เกิดความรู้ หรือ นวัตกรรมชุมชน
2 เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เอื้อต่อสุขภาพ
3 การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ (กายภาพ สังคม และเศรษฐกิจ)
4 การพัฒนานโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อสุขภาวะ
5 เกิดกระบวนการชุมชน
6 มิติสุขภาวะปัญญา / สุขภาวะทางจิตวิญญาณ

ภาพถ่าย

วีดิโอ

ไฟล์เอกสาร

โครงการขยายผล

นำเข้าสู่ระบบโดย monteearu monteearu เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2562 17:31 น.