สถาบันนโยบายสาธารณะ

TH | EN

การประยุกต์ใช้แผนผังวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อพัฒนาโปรแกรมการจัดการความเสี่ยงจากการทำงานของแรงงานกรีดยางพาราโดยชุมชนมีส่วนร่วม

by PPI_Admin @11 ส.ค. 59 16:17 ( IP : 172...45 ) | Tags : วิทยานิพนธ์
photo  , 802x708 pixel , 61,142 bytes.

ชื่อวิทยานิพนธ์ การประยุกต์ใช้แผนผังวิเคราะห์ความเสี่ยงเพื่อพัฒนาโปรแกรมการจัดการความเสี่ยงจากการทำงานของแรงงานกรีดยางพาราโดยชุมชนมีส่วนร่วม

ชื่อนักศึกษา สุทธิพงษ์  อุสาหะพงษ์สิน

สาขาวิชา  สาขาวิชาการจัดการระบบสุขภาพ

ปีการศึกษา 2558

บทคัดย่อ

การวิจัยและพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมการจัดการความเสี่ยงจากการทำงานของแรงงานกรีดยางพาราที่ออกแบบโดยประยุกต์ใช้แผนผังวิเคราะห์ความเสี่ยงและการมีส่วนร่วมของชุมชน ภายใต้กรอบการจัดบริการอาชีวอนามัยขั้นพื้นฐาน (Basic Occupational Health Services: BOHS) ที่ให้ความสำคัญกับข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาและสถานการณ์ความเสี่ยงทางสุขภาพ และการประเมินความเสี่ยงจากการทำงาน (risk assessment) ในการจัดบริการของหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเจาะจงคือ แรงงานเกษตรกรกรีดยางพารา ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และบุคลากรของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดสงขลา เก็บรวบรวมข้อมูลและพัฒนาโปรแกรมโดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพแรงงานกรีดยาง ในการออกแบบการประเมินความเสี่ยง 3 ขั้นตอน คือ 1) การค้นหาและระบุความเสี่ยง 2) การกำหนดเกณฑ์ประเมินความเสี่ยง และ 3) การวิเคราะห์และจัดลำดับความเสี่ยง  วิธีการเก็บข้อมูลใช้การทำสนทนากลุ่ม กลุ่มละ 6-12 คน รวม 3 ครั้ง การทบทวนวรรณกรรม และกระบวนการกลุ่ม

ผลการศึกษาพบว่า 1) ความเสี่ยงที่ชุมชนตระหนักว่าส่งผลกระทบต่อสุขภาพแรงงานกรีดยาง มี 6 ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพ ชีวภาพ เคมี การยศาสตร์ (เออร์โกโนมิกส์) จิตสังคม และอุบัติเหตุและการบาดเจ็บ 2) การประยุกต์แผนผังวิเคราะห์ความเสี่ยงในการพัฒนาโปรแกรมการจัดการความเสี่ยงจากการทำงานกรีดยางพารา ใช้การมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดค่าระดับคะแนนประเมินความเสี่ยง โดยใช้ความตระหนักของชุมชนที่มีต่อปัญหาทั้งค่าความรุนแรงของผลกระทบทางสุขภาพและค่าความถี่หรือโอกาสของการเกิดเหตุการณ์ และ 3) แบบสอบถามสำหรับใช้เก็บรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินความเสี่ยงของแรงงานกรีดยาง ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ข้อมูลทั่วไป และการประเมินความเสี่ยงในการทำงาน  ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปใช้เป็นรูปแบบการจัดการความเสี่ยงจากการทำงานกรีดยางพาราของชุมชนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำสวนยางพาราโดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม  และใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเก็บรวบรวมข้อมูลและโปรแกรมพื้นฐานในการจัดเก็บข้อมูลด้านสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานเกษตรกรกรีดยางพารา รวมทั้งสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาวางแผนและดำเนินการป้องกัน ควบคุม และเฝ้าระวังความเสี่ยงที่เกิดจากการทำงานได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นนี้ไปประยุกต์ใช้โดยกำหนดค่าการประเมินความเสี่ยงจากความตระหนักของชุมชนเองได้เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทพื้นที่ที่ต่างกัน และในการวิจัยครั้งต่อไปควรมีการนำโปรแกรมไปทดลองใช้จริงและปรับปรุงการใช้งานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

Thesis Title Application of Risk Assessment Matrix to the Community Participation Program for Agricultural Risk Management of Rubber Tapping Workers

Author Sutthiphong Usahaphongsin

Major Program Health System Management

Academic Year 2015

ABSTRACT

This research and development study using the concept of Basic Occupational Health Services (BOHS) aimed to develop and apply the risk assessment matrix for agricultural risk management program in rubber tapping workers in primary care unit services. Participants recruited by purposive sampling, were rubber tapping workers, community leaders or their representatives, and health professionals of the Tumbol Health Promoting hospital in Klong Hoy Khong District, Songkhla province. Risk matrix program was developed through community participation process in 3 steps: 1) identification of the risks, 2) identification of risk assessment, and 3) analysis and classification of the risks. Data was collected by 3 focus group discussions (6-12 persons/group), relevant literature review, and group process.

The results showed that 1) risk at work of the rubber tapping workers included physical, biological, chemical, ergonomics, and psychosocial risks, and risks of accident and injury 2) the developed risk matrix program was generated by community involvement for both frequency of risks and severity of health problems and 3) the developed self-administered questionnaire consisted of 2 parts: included personal characteristics and work-related items and risk assessment questions. The findings can be used as the tool and guidance for collecting data among rubber tapping workers in various settings. Accordingly, it could be used for prevention, control, and surveillance intervention in others rubber plantation areas. Other than that, each community could be set up the weights of frequency and severity of risk related to specific environments. The next research should concern more on the quasi-experimental study to evaluate and approve for the effectiveness of the developed program.

Relate topics