สถาบันนโยบายสาธารณะ

TH | EN

สรุป การประชุมเครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ 19 พ.ค. 54

สรุป การประชุมเครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2554 เวลา 13.00-17.00 น.

ณ ห้อง Briefing Room อาคารอำนวยการชั้น 1 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส

จากสถานการณ์อุทกภัยภัยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม – เดือนธันวาคม พ.ศ. 2553 ส่งผลให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยทั่วประเทศ มากถึง 39 จังหวัด และล่าสุด ในช่วงปลายเดือนมีนาคม ที่ผ่านมาได้ เกิดเหตุอุทกภัยขึ้นอีกครั้งที่ภาคใต้ ทำให้มีพื้นที่ประสบอุทกภัยถึง 10 จังหวัด ซึ่งภัยพิบัติที่เกิดขึ้นนั้น ทำให้พบว่าการช่วยเหลือ ผู้ช่วยประสบภัยพิบัติ โดยการรวมตัวของภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้น จนนำมาสู่การประชุมเครือข่ายอาสาช่วยเหลือ ผู้ประสบภัยพิบัติขึ้น เมื่อเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม 2554 ณ อาคารอำนวยการชั้น 1 สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อถอดบทเรียนจากประสบการณ์จากตัวแทนของหน่วย งานภาครัฐ และภาคประชาชน ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในครั้งที่ผ่านมา เพื่อนำความรู้ที่ได้มาเป็นแนวทางในการบูรณาการการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบ ภัยต่อไป โดยในการประชุมครั้งนี้ มีผู้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์กว่า กว่า 40 ท่าน ซึ่งสามารถบันทึกสรุปความคิดเห็น และประเด็นการแลกเปลี่ยนระหว่างกันได้ ดังนี้

คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส)

กล่าว ว่า เรื่องภัยพิบัติ เป็นเรื่องที่เราไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ที่ไหน และมีความรุนแรงเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้ในวันนี้ คือ การเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยทาง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ยินดีเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เพราะเรามองว่า เรื่องภัยพิบัติไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนควรเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือ

คุณสุมนา สุวรรณอำภา (สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส)

กล่าว ว่า การถอดบทเรียนจากประสบการณ์ของผู้ที่ลงพื้นที่ปฏิบัติงาน /ผู้ให้การสนับสนุน และผู้ที่ทำหน้าที่ประสานงาน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในครั้งที่ผ่าน ๆ มา จะทำให้เรามองเห็นภาพของปัญหา/อุปสรรค ที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน ซึ่งเรื่องนี้จะนำไปสู่แนวทางการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น ในอนาคต

คุณปรเมศวร์ มินศิริ (www.kapook.com , www.thaiflood.com)

กล่าวว่า การร่วมประชุมเครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในวันนี้ ก็เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการร่วมกำหนด ร่วมออกแบบ ร่วมคิด ร่วมกันช่วยเหลือกรณีของการประสบภัยพิบัติ รวมถึงการรับมือกับภัยพิบัติในครั้งต่อ ๆ ไป ซึ่งจากการ ประชุมในวันนี้ ทำให้เห็นว่า สิ่งที่สำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ คือ

  1. การจัดทำโครงสร้างของการประสานงานให้ความเหลือผู้ประสบภัยพิบัติขึ้นมาให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น โดยต้องระบุให้ชัดเจนว่า หน่วยงานใดมีหน้างานอะไร ในพื้นที่ใดและรับผิดชอบในเรื่องใดบ้าง และเชื่อมร้อยการทำงาน ระหว่างกันอยู่อย่างไร ส่วนใดมีจุดแข็งจะได้เป็นหลักในการทำงาน ส่วนใดยังมีจุดอ่อนจะได้เร่งเพิ่มศักยภาพในการทำงาน

  2. จัดทำ รวบรวม เผยแพร่ ความรู้ในด้านการดูแลและป้องกันตนเอง ครอบครัวและชุมชน เป็นเนื้่อหาสาธารณะ เพื่อให้ความรู้ประชาชน

  3. ผลักดันให้เรื่องภัยพิบัติ เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งเป็นวาระของทุกคนไม่ใช่เพียงของภาครัฐ ต้องช่วยกันขับเคลื่อน และทำออกมาเป็นนโยบายสาธารณะเพื่อให้เป็นมาตรการที่ใช้ได้จริงในสังคม

คุณอำไพย์ ถาวระ (หนำไพรวัลย์ กรุงชิง)

กล่าว ว่า จากประสบการณ์ในฐานะผู้ประสบภัยพบว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การประกาศเตือนภัยของภาครัฐ และ วิทยุสื่อสาร ที่กลายเป็นช่องทางเดียวในการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคลภายนอก และผู้ประสบภัย ที่ผู้ประสบภัยสามารถใช้ ติดต่อขอความช่วยเหลือ ในกรณีที่โทรศัพท์ถูกตัดขาด หรือไม่มีไฟฟ้าได้ ด้วยวิธีเรียก May day

คุณวรวุฒิ แซ่ตั้ง (อาสาสมัคร กู้ภัยนคร)

กล่าวว่า อยากให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของ วิทยุสื่อสาร ซึ่งอาจเป็นช่องทางเดียวที่ทีมช่วยเหลือจะใช้สื่อสาร กับผู้ประสบภัยได้ รวมถึงการซ่อมแซม หรือปรับปรุงสะพานในพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะในกรุงชิง ให้มีความแข็งแรงมาก ยิ่งขึ้น เพื่อความปลอดภัยในกรณีที่ต้องอพยพชาวบ้านเวลาที่มีการแจ้งเตือนให้ระวังน้ำท่วมฉับพลัน หรือน้ำป่าไหลหลาก

คุณสุดารัตน์ นิราพาธ (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ)

กล่าวว่า ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินได้ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ จึงได้จัดมหกรรม การให้ความรู้เกี่ยวกับแผนการเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ ซึ่งเน้นการปฏิบัติตนให้ปลอดภัยภายใน 24 ชม. แรกของการเกิด เหตุ เพื่อให้ประชาชนได้รู้จักวิธีการช่วยเหลือตนเองก่อนเป็นลำดับแรก

ทั้งนี้ ขอฝากเบอร์ประสานงาน เพื่อขอความช่วยเหลือฉุกเฉินที่ โทรศัพท์ 1669

ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ (สถาบันเศรษฐกิจพอเพียง)

กล่าวว่า การเตรียมความพร้อมให้กับคนในชุมชนนั้นมีส่วนสำคัญที่สุด โดยเฉพาะเรื่องความรู้ / ความเข้าใจ ในการปฏิบัติตัวของคนในชุมชนเวลาเกิดภัยพิบัติ ตลอดจนการส่งข้อมูลเพื่อรายงานสถานการณ์ในพื้นที่ของตนเอง หรือขอความช่วยเหลือแบบเป็นเครือข่าย

คุณชวลิต รัตนสุทธิกุล (เลขาธิการมูลนิธิ มูลนิธิสว่างแผ่ไพศาลธรรมสถาน)

กล่าวว่า การเตรียมการเพื่อให้ความช่วยเหลือเวลาที่เกิดภัยพิบัตินั้น สามารถทำได้ โดย

  1. ขอให้สาธารณสุขประจำจังหวัด เรียก นายก อบต. / กำนัน / ผู้ใหญ่ มาประชุม เพื่อแลกเปลี่ยนเบอร์ โทรศัพท์ไว้ สำหรับติดต่อสื่อสาร เวลาที่เกิดภัยพิบัติ

  2. วิทยุสื่อสาร ซึ่งเป็นคำตอบที่ดีที่สุดเวลาเกิดภัยพิบัติ เพราะเวลาเกิดภัยพิบัติ อุปสรรคที่พบ คือ ประชาชนในพื้นที่ ไม่สามารถสื่อสารกับคนภายนอกได้ ดังนั้น วิทยุสื่อสาร จึงเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ที่ประชาชนในพื้นที่สามารถติดต่อ ขอความช่วยเหลือได้ ทั้งยัง สามารถใช้เป็นศูนย์กลางในการกระจายข่าวสารที่เกิดขึ้น

คุณรวิภัคฐ์ ลิ้มโพธิ์แดน (สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย)

กล่าวว่า อุปสรรคในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติที่พบอยู่บ่อยครั้ง คือ ปัญหาเรื่องข้อมูล เครือข่ายของข้อมูล เครือข่ายการประสานงาน เนื่องจากผู้ประสบภัยไม่อาจประสานงาน เพื่อขอความช่วยเหลือ/รายงานสถานการณ์ในพื้นที่ ของตนเองได้ รวมถึง ผู้ที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือก็ไม่ทราบข้อมูลของแต่ละพื้นที่ เนื่องจากไม่มีเครือข่ายในการ ประสานงาน

นอกจากนี้ ปัญหาอีกอย่างก็คือ ความไม่รู้ของประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ที่ไม่ทราบถึงแนวทางปฏิบัติเมื่อเวลาเกิด ภัยพิบัติ ดังนั้น จึงอยากให้มีการให้ความรู้แก่ประชาชน เรื่องแนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดภัยพิบัติ รวมถึง การสร้างค่านิยม ให้ประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนรวมในการเฝ้าระวังภัยและการร่วมกับฟื้นฟูพื้นที่หลังภัยพิบัติ

ทั้งนี้ ทางสมาคมฯ อยากเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมลักษณะนี้อีกซักครั้ง เพื่อให้ภาคประชาชนได้พบกับนักการเมือง ท้องถิ่น, หน่วยงานภาครัฐ, มูลนิธิ หรืออื่น ๆ ที่มีความสนใจ ซึ่งอาจทำให้เห็นสภาพปัญหาในอีกแง่มุมหนึ่ง ทั้งยัง ก่อให้เกิด ความเข้าใจระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน จนนำไปสู่การสร้างเครือข่ายในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติที่เข้มแข็ง

ร.อ.บรรเจิด เปรมจิตต์ (ทอ.) (อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง)

กล่าวว่า ปัญหา ที่พบเวลาเกิดภัยพิบัติ คือ ผู้ปฏิบัติงานที่ลงพื้นที่ไม่มีข้อมูลของพื้นที่ที่ตนต้องเข้าไป ดังนั้น จึงอยากให้มีการจัดทำข้อมูลในรูปแบบแผนที่สถานการณ์ ประกอบกับข้อมูลของประชากรในพื้นที่นั้น ๆ ตลอดจนเบอร์ ประสานงานของผู้นำชุมชน เพื่อที่ผู้ปฏิบัติจะได้สามารถประเมินสถานการณ์ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ เพื่อเข้าไปในพื้นที่ได้อย่าง ถูกต้อง รวมถึงการจัดระเบียบหรือกระบวนการ ขั้นตอน ในกรณีที่เกิดเหตุในครั้งต่อไป เพื่อให้รู้ว่า ต้องเริ่มที่จุดไหนก่อน และต้องทำอะไรก่อน โดยกระบวนการทำงาน ควรมีดังนี้

  1. แนวหน้าตัดสินใจได้เลยว่าต้องนำอะไรไปช่วย
  2. ส่วน 2 วิเคราะห์ ประสานงานตามสถานการณ์
  3. ส่วน 3 รอให้การสนับสนุนตามความต้องการ

ซึ่งหากทีมที่ลงช่วยไปช่วยเหลือ ทีมประสานงาน และทีมสนับสนุน สามารถทำงานประสานกันเป็นห่วงโซ่ร้อย งานย่อมลุล่วงไปได้ด้วยดี

คุณพลวัฒน์ สุขเจริญ (อาสาสมัครมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง)

กล่าวว่า เวลาที่เกิดภัยพิบัติขึ้นนั้น หากหน่วยงานภาครัฐ หรือ ภาคเอกชน ที่ลงไปปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ต้องการข้อมูลทางด้านกายภาพ และจำนวนครัวเรือน ก็สามารถขอข้อมูลได้ที่หน่วยกู้ภัยซึ่งมีอยู่ทั่วประเทศ นอกจากนี้ ทางมูลนิธิฯ ยินดีที่เป็นหนึ่งในเครือข่ายครั้งนี้

คุณปิยะชีพ ส.วัชรโรบล (อาสาดุสิต /สมาคมรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์)

กล่าวว่า การให้ความช่วยเหลือในกรณีของการประสบภัยพิบัติมีด้วยกัน 3 ลักษณะ คือ การเตือนภัย หรือการระวังก่อน การเกิดภัยพิบัติ, การให้ความช่วยเหลือระหว่างประสบภัยพิบัติ และการให้ความช่วยเหลือตลอดจนการฟื้นฟูหลังการเกิดภัย พิบัติ แต่จากเหตุการณ์ที่ผ่าน ๆ มา ส่วนใหญ่การให้ความช่วยเหลือจะถูกกระทำอยู่ในช่วงระหว่างการเกิดภัยพิบัติ แต่ถ้าหากเราสามารถการเตรียมการณ์ป้องกันภัยพิบัติได้ล่วงหน้า

นอกจากทำให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงสามารถช่วยเหลือ ตัวเองได้ ยังเป็นการปลูกจิตสำนึกเรื่องการเฝ้าระวังภัยแก่ประชาชน ไปในตัวด้วย ทั้งนี้ การกำหนดบทบาทของผู้ให้ความ ช่วยเหลือก็เป็นสิ่งสำคัญ จึงอยากเสนอโครงสร้างของกลุ่มอาสาสมัคร แบบ 3 ส่วน ที่สามารถกำหนดบทบาทและหน้าที่ ของแต่ละฝ่ายได้อย่างชัดเจน ดังนี้

  1. หน่วยปฏิบัติหน้างาน คือ ส่วนที่พร้อมให้ความช่วยเหลือหน้างาน สามารถลงพื้นที่ได้เลย และตัดสินใจได้เลย เช่น หน่วยกู้ภัย
  2. หน่วยสนับสนุน เช่น อาสาดุสิต, สพฉ., แพทย์ เป็นต้น
  3. ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสาร เช่น Thaiflood, Thai PBS

คุณตฤณ ตัณฑเศรษฐี (มูลนิธิโอเพ่นแคร์)

กล่าวว่า คีย์เวิร์ดสำคัญ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ คือ

  1. การประสานงาน
  2. ข้อมูล
  3. แผนที่สถานการณ์ โดยเฉพาะ แผนที่สถานการณ์ จะช่วยให้เห็นขอบเขตของน้ำท่วมว่าอยู่ที่ตรงไหน มีความเสียหายเพียงใด ซึ่งเราสามารถอัพเดทข้อมูลด้วยการบินถ่ายรูป ก่อนนำภาพมาซ้อนกับแผนที่ประชากรที่อัพเดทที่สุด ซึ่งน่าจะเป็น ของกระทรวงสาธารณสุข หรือสถานีอนามัย มีข้อมูลที่เป็นจริงในปัจจุบันที่สุด จะทำให้สามรถระบุจุด และกลุ่มเป้าหมาย ที่จะเข้าไปช่วยเหลือสามารถได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ การเตรียมพร้อมสำหรับพื้นที่ที่คาดว่าอาจเกิดดินถล่มนั้น แม้ว่าเราไม่สามารถ หาแนวทางป้องกันได้ 100% แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงได้ ด้วยการใช้วิธีเซาะหน้าดิน เพื่อให้เกิดทางน้ำ ในการเอาน้ำลงจากภูเขาให้เร็วที่สุด นั่นเอง

และสิ่งที่สำคัญอีกอย่างนอกจาก เรื่องข้อมูลที่ต้องระบุเวลาที่แจ้งขอความช่วยเหลือชัดเจน ภาษาที่ใช้ในการแจ้งขอความช่วยเหลือ หรือศูนย์กลางประสานงาน ก็คือ การที่ประชาชนในพื้นที่ต้องเข้าใจเสียก่อนว่าพื้นที่ของตนเอง เป็นเช่นไร และมีความเสี่ยง ต่อภัยพิบัติแบบใดได้ เพื่อร่วมกันหามาตรการรับมือ

คุณจันทรัสม์ จันทรทิพรักษ์ (CSR โคราช)

กล่าวว่า ได้จากเหตุการณ์น้ำท่วมโคราชในปี พ.ศ.2553 ทำให้พบว่า แม้ในยามที่เกิดวิกฤตการณ์เช่นนั้น ก็ยังมีการช่วย เหลือเกื้อกูลกันของประชาชนในแต่ละภูมิภาค ซึ่งเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า คนไทยพร้อมที่จะช่วยเหลือกันในยามยากเสมอ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างเครือข่ายการช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจน การวางแผนการรับมือภัยพิบัติล่วงหน้า

คุณอานัน มิสมะกนก (อาสา Off road Korat)

กล่าว ว่า การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติของทีมช่วยเหลือ สิ่งที่สำคัญ คือ ทีมช่วยเหลือต้องมีทักษะที่ดี รวมถึง อาสาสมัครที่จะเข้าไป พร้อมทีมช่วยเหลือ ก็ควรจะเชื่อฟังคำแนะนำของผู้ที่นำทีมเข้าไป และต้องไม่เป็นภาระของการเข้าไป ให้ความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ อยากให้มีการสร้างบรรทัดฐานในเรื่องการเตรียมความพร้อม และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้เป็นแนวทางเดียวกันทั้งประเทศ

สำหรับเรื่องข้อมูลประชากรในแต่ละพื้นที่นั้น พบว่า ข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยยังไม่อัพเดท เนื่องจากบางพื้นที่มีประชากร อพยพเข้า – ออก โดยที่ไม่มีการแจ้งรายชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์เป็นจำนวนมาก ดังนั้น ควรจะมีการตรวจเช็คข้อมูล ประชากรเพิ่มเติมที่สาธารณสุข ประกอบกับข้อมูลของกระทรวงมหาดไทยด้วย

คุณพงศกร พัฒผล (Thailand Survival)

กล่าว ว่า ควรจะมีศูนย์กลางเพื่อกระจายข่าวสารต่าง ๆ ในพื้นที่ โดยอาจจัดตั้งเป็น วิทยุชุมชน ที่เป็นคลื่น FM AM |เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ชาวสามารถมีได้ และหากเกิดปัญหาเรื่องไฟฟ้า ก็ยังพอให้ข่าวสารกับชาวบ้านได้ นอกจากนี้ อยากให้มีการจัดทำคู่มือสำหรับการช่วยเหลือตัวเองเวลาเกิดเหตุภัยพิบัติ เพื่อนำไปแจกให้กับทุก ๆ บ้าน แต่คู่มือฯ ฉบับ ดังกล่าวต้องมีความสอดคล้องและเหมาะสมกับภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

คุณวัชรินทร์ สายบุญมี (Thai PBS)

กล่าวว่า อยากให้มีการรวบรวมข้อมูลไว้ที่เว็บไซต์ใดเว็บไซต์หนึ่ง เพื่อเป็นฐานข้อมูล ซึ่งอาจจะเป็นที่ www.thaiflood.com ก็ได้ นอกจากนี้ ก็เห็นว่า หากมีผลักดันนโยบายเรื่องภัยพิบัติให้เป็นวาระแห่งชาติ จะช่วยให้การดำเนิน การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ เป็นไปอย่างรวดเร็ว และมีแนวทางการช่วยเหลือที่มีบรรทัดฐานเดียวกันทั้งประเทศ

ข้าราชการเกษียณ (ไม่ออกนาม)

กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยของภาครัฐเป็นไปอย่างล่าช้า เกิดจากข้อจำกัด ดังต่อไปนี้

  1. ข้อจำกัดในการออกไปปฏิบัติงานนอกพื้นที่ หรือแม้แต่การให้ความช่วยเหลือ
  2. ข้อจำกัดในเรื่องโครงสร้างส่วนราชการ เรื่องงบประมาณฯ ที่มีการกำหนดไว้แล้วว่าต้องใช้เพื่ออะไร และไม่อาจนำไปใช้ นอกเหนือการกำหนดนั้นได้
  3. ข้อจำกัดของการวางนโยบายในเรื่องของการจัดการภัยพิบัติ

ด้วย ข้อจำกัดดังกล่าว จึงเห็นว่า หากภาคประชาชน ซึ่งมีความคล่องตัวกว่าทั้งด้านทุนทรัพย์ และบุคลากรในการลงพื้นที่ สามารถสร้างโครงสร้างของกลุ่ม ที่ระบุกรอบการทำงาน รวมถึงสามารถจัดทำคู่มือทั้งของภาคประชาชน และคู่มือของการ ให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยของอาสาสมัคร ย่อมทำให้เกิดการผลักดันนโยบายการให้ความช่วยเหลือกรณีภัยพิบัติ กลายเป็นวาระแห่งชาติได้โดยง่าย

คุณทินกร จิรปุณยพันธุ์ (อาสาดุสิต / อาสาประชาสัมพันธ์ปอเต็กตึ๊ง)

กล่าวว่า ให้เรื่องของข้อมูลนั้น หากทุกฝ่ายสามารถแบ่งปันข้อมูลกัน ไม่ว่าจะเป็นเบอร์ติดต่อ หรือบันทึกการให้ความ ช่วยเหลือ หรือแม้แต่ใครทำงาน หรือไม่ทำงานเป็นต้น ก็จะช่วยให้การให้ความช่วยเหลือเป็นไม่อย่างรวดเร็วและไม่ซ้ำซ้อน

การ ประชุมเครือข่ายอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในวันนี้ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานในฝ่ายปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือ / ฝ่ายให้การสนับสนุน และฝ่ายข้อมูล / ประสานงาน ได้มาทำความรู้จักและแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กัน จนทำให้ได้ข้อเสนอแนะที่เปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นของการผลักดันเรื่องภัย พิบัติ ให้เป็นวาระแห่งชาติ และเพื่อให้เกิดแนวทางปฏิบัติในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ ที่ผู้ปฏิบัติงานให้ความช่วยเหลือ และผู้ประสบภัยสามารถนำไปใช้ได้จริง เพื่อลดความสูญเสียทั้งด้านชีวิต และทรัพย์สิน สำหรับการประชุมในครั้งต่อไปนั้น ทางคณะผู้ประสานงานจะเรียนแจ้งให้เครือข่ายได้ทราบอีกครั้ง

ที่มา www.thaiflood.com

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง