สถาบันนโยบายสาธารณะ

TH | EN

ผ่าบทวิพากษ์สมัชชาใต้ 53 เลิกแช่แข็งปัญหา - ก้าวข้ามมายาคติ

by Little Bear @1 เม.ย. 54 12:22 ( IP : 61...159 ) | Tags : บทความ-สาระน่ารู้ , สมัชชาสุขภาพ

ผ่าบทวิพากษ์สมัชชาใต้ 53 เลิกแช่แข็งปัญหา - ก้าวข้ามมายาคติ

ทำไมต้องสมัชชา?

ทำไมต้อง one voice ?

“สังคมทุกวันนี้ปัญหาต่างๆมาก มีความซับซ้อน ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาก็หลากหลาย การแก้แบบเดิมที่ให้หน่วยงานต่างๆที่รับผิดชอบตามระบบไปดูแลกันเอง มันไม่พอแล้ว”

ผศ.ดร.พงค์เทพ  สุธีรวุฒิ  ผู้อำนวยการ  สถาบันการจัดการระบบสุขภาพ ภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (สจรส.ภาคใต้ มอ.) เผยถึงที่มาของแนวคิดสมัชชา เบื้องหลังเวทีประชุมวิชาการสมัชชาสุขภาพภาคใต้และสมัชชาสุขภาพสงขลา “10ปี พัฒนาวิชชา สมัชชาสุขภาพ” ซึ่งจัดระหว่าง 11-13 ตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมนานาชาติเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา มีผู้เข้าร่วมจากทุกภาคส่วนกว่า 500 คน

ด้วยเหตุดังกล่าว ผอ. สจรส. กล่าวว่า สมัชชาจึงมีความต้องการที่ให้คนที่เจอปัญหาต่างๆ มานั่งคุยกันว่า จะทำอย่างไร คนหลายคนมาคิด ใช้ฐานความเห็นหรือคุยแบบธรรมดาไม่ได้แล้วแต่ต้องคุยแบบมีกระบวนการ ใช้แนวคิดสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ดึงทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นๆมา นั่งคุยกัน เป็นการรวมพลังการทำงานร่วมกัน ขณะเดียวกันเป็นการทำงานบนฐานความรู้ ปัญญา และจิตวิญญาณ

“เมื่อเอาสิ่งที่ดี ปฏิบัติการชุมชนดีๆมานั่งคุยกันหาจุดหมายร่วมหาวิธีการทำงานร่วมกัน สังคมจึงจะขับเคลื่อนไปได้” ผศ.ดร.พงค์เทพกล่าวและว่าเพื่อทำให้เกิดสิ่งนี้ สจรส. เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวประสาน  เป็นกลไกอันหนึ่งที่ไปเติมเต็มสมัชชาภาคใต้ซึ่งแต่ละพื้นที่มีอยู่แล้ว สจรส.ช่วย พัฒนาศักยภาพคน เชื่อมองค์กรในพื้นที่เจอกับภาคประชาสังคม หรือสร้างกลไกอื่นๆ รวมทั้งการรวมตัวในนามสมัชชาภาคใต้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่มีการลงความเห็นแบบนี้

ปริบทข้างต้น เป็นที่มาของการเสนอมติวาระสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ  พ.ศ.2553 จากสมัชชาภาคใต้ แบบวันวอยซ์ (one voice) ซึ่งที่ผ่านมาแต่ละเครือข่าย จังหวัด ดูแค่เรื่องตัวเอง แต่ปีนี้สมัชชาภาคใต้ คิดว่าน่าจะมาดูด้วยกัน เพราะบางเรื่องน่าจะต้องช่วยกันผลักดันร่วม เพราะถ้าเห็นตรงกันทั้งภาคว่าเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมจะมีน้ำหนักมากขึ้น

“กลไกภาคจะทำร่างมติทั้งหมดไป หากบางมติขัดแย้งกับวันวอยซ์ ถ้ายังไม่ใช่เป็นของภาคจะตัดออกจากวันวอยซ์ไปก่อน กรณีแบนนั้นคงต้องมาให้ความเห็นต่อว่า มติต้องเป็นมติ 14 จังหวัด ถ้าสรุปไม่ได้ก็ยังไม่ใช่วันวอยซ์

“บนความหลากหลายมีแก่นว่าด้วยความร่วมมือ ใช้ฐานความรู้เคลื่อนด้วยปัญญา ใช้ช่องทางการเมืองและอำนาจรัฐ มีเป้าหมายร่วม และพันธะที่ทุกคนต้องนำไปปฏิบัติ” ผศ.ดร.พงค์เทพกล่าว

เวทีวิชาการ 12 ตุลาคม 2553 นายสมพร ใช้บางยางอดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย นั่งประธานสมัชชาภาคใต้ อาจารย์กรรณิการ์ บันเทิงจิตร รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เป็นรองประธาน และ นายสุริยา ยีขุน นายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลปริก เป็นเลขานุการ

การปาฐกถา เรื่อง “สมัชชาสุขภาพกับการพัฒนานโยบายสาธารณะพื้นที่ภาคใต้” นายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าสมัชชาสุขภาพเป็นโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม การขับเคลื่อนของภาคใต้ กำลังถูกมองว่าจะเป็นแบบอย่างให้กับภาคอื่น

“บ้านเมืองเราต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในวันข้างหน้า พี่น้องภาคใต้เป็นพลังอย่างมากต่อชนวนความเปลี่ยนแปลงไม่ใช่เป็นความเชื่อลมๆ แล้งๆ สิ่งที่ดำเนินการที่มาถึงวันนี้ชัดเจน และเดินไปข้างหน้าเรื่อยๆ พี่น้องชาวใต้มีความกระตือรือร้นนำบ้านเมืองให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่”

สมัชชาสุขภาพเป็นช่องทาง โอกาสหนึ่งของสังคม ให้ผู้คนเข้ามาร่วมตัวกันคิดและ ทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่เรื่องบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขแบบเดิม แต่เป็นการหาทางทำให้สุขภาวะสังคมเกิดขึ้น 9 ปีที่ผ่านมาของสมัชชาสุขภาพ ภาคใต้ก้าวหน้าอย่างมาก นำประเด็นเข้าสู่สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เป็นองค์รวม อย่างพหุวัฒนธรรมภาคใต้ หรือเสนอให้ทบทวนแผนพัฒนาภาคใต้ ชี้ชัดว่าคนใต้มองเรื่องสุขภาพไม่ใช่เรื่องแค่มดหมอหยูกยา หรือ บริการทางการแพทย์ หรือ สาธารณสุข แต่เป็นสุขภาวะที่อยู่ร่วมกัน

“เวทีที่เกิดขึ้น (11 ตุลาคม 53) ผมทราบว่ามีการการเสนอมติ เอาจริงเอาจัง กับประเด็น หาข้อสรุปร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน สิ่งที่เกิดขึ้นอาจนับเป็นการเรียนรู้ครั้งใหญ่ของคนไทย”

นายแพทย์อำพล มองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างนี้มุมหนึ่งคือการปฏิรูปการศึกษา พ้นจากความเข้าใจเดิมว่าเป็นเรื่องในห้องเรียน มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ใช่ที่ประชุมแห่งนี้ แต่เกิดอยู่ในชุมชน หรือหากมองการปฏิรูปการเมือง ที่บอกว่าการเมืองไม่ใช่ตัวแทน แต่เป็นเรื่องเราทุกคน และทุกเรื่องเป็นการเมือง สมัชชาก็เป็นเครื่องมือตัวหนึ่ง

สมัชชาสุขภาพเป็นเครื่องมือชวนคนไทยเข้ามาปฏิรูปเป็นประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม เปิดช่องตั้งแต่หลังมีธรรมนูญปี 40 แต่โอกาสทำจริงมีน้อย จึงขึ้นอยู่กับเจตนารมณ์ ของประชาชนที่อยากเห็นประเทศไทยอย่างไร สมัชชาสุขภาพ เป็นตัวกลางที่ทำให้ทุกฝ่ายมาร่วมกันพัฒนานโยบายสาธารณะ ไม่ได้เป็นของใครแต่เป็นทุกส่วนร่วมกัน

“วันนี้มีการปฏิรูปประเทศไทย เป็นเครื่องมือโยงทุกภาคส่วน ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเราทำมาแล้วด้วยสมัชชา ภาคใต้นำในเรื่องนี้ เพราะ ดูการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านมาทางสมัชชา จน ครม.เห็นชอบมาแล้ว”

เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่าถ้ามองย้อนกลับไปสมัยก่อน ประชาชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมในการพัฒนา แต่หลังมีสมัชชาประชาชนมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม

“อย่างไรก็ตามแม้จะได้ถึงเป็น มติ ครม. ประชาชนก็อย่างไว้วางใจ ต้องขับเคลื่อนต่อ เพราะ มติ ครม.จำนวนมากเหมือนกันที่ไม่ได้ส่งผลทางปฏิบัติจริง” นายแพทย์อำพลกล่าวว่า ขณะนี้การปฏิรูปประเทศไทย ไปไม่ถึงไหน ประเทศไทยพิการ ระบบผิดปกติ ยิ่งพัฒนายิ่งเหลือมล้ำ การที่สังคมไทยแตกแยกกัน กระบวนการสมัชชา จะช่วยให้ตรงนี้เข้ามาหากัน ที่ภาคใต้ กำลังเชื่อมหลายเรื่องให้คนคิดแบบองค์รวม เราทำงานไม่แยกส่วน มาร่วมกัน กลับไปทำสิ่งที่ตนเองทำได้ ที่ผ่านมาขาดเป้าหมายร่วมกัน แต่ตอนนี้ไปได้แล้วสำหรับภาคใต้ ถือว่า คึกคักที่สุด หลายเรื่อง โดยเฉพาะยังมีการที่จะใช้ช่องทางการสื่อสารสังคม ในการพัฒนาสังคม ซึ่งที่อื่นไม่ชัดเท่าภาคใต้

ที่ผ่านมาภาคใต้พยายามเชื่อมหลายส่วน แต่ทำได้ไม่มาก เพราะระบบการศึกษามักดูตามตำรา และทำตามฝรั่งบอก ที่สำคัญคือจัดการองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ก็เป็นเรื่องใหญ่แล้ว การสื่อสารสังคมที่ต้องทำให้มากกว่านี้ การใช้สมัชชา จะใช้รูปแบบไหนก็ได้ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เราจะได้นโยบายสาธารณะ ได้ประเด็น มติ มาทำได้เลยไม่ต้องรอส่วนกลาง โดยหัวใจสำคัญ คือกลไกจัดการขนาดเล็ก โดยคนจิตสาธารณะ โดยมีคนจัดการ อย่างที่ภาคใต้ทำได้ ไม่ใช่หน่วยงานเดียว แต่อยู่ที่นักจัดการ และมีคนมาช่วยมากมาย นี่คือหัวใจ ของความสำเร็จของการทำงาน ที่จะเชื่อมโยงคนสำคัญ ของสังคมไทย ที่จะเดินหน้าต่อไป

“วันนี้เรามี อปท.มากมายที่ขับเคลื่อนโยบายสาธารณะได้เลย”

นายสมพร ใช้บางยางกล่าวว่า ความพยายามสร้างความเข้มแข้งให้ท้องถิ่นกับประชาบนถ้าทำได้จะดีกว่าเก่ามาก โดย ไม่ต้องรอส่วนกลางกำหนด เพราะหัวใจคือการสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พี่น้องที่ทำงานต่างๆ กำลังทำให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็ง กระบวนการมีหลายระบบ หลายช่อง หลายวง มาเชื่อมโยงถึงกัน หากไม่ต่างคนต่างทำ พลังเข้มแข็งจะเกิด เป้าหมายอยู่ร่วมกันอยู่เย็นเป็นสุข

กรณีศึกษาประเด็นเด็กและเยาวชนและบทวิพากษ์

การนำเสนอกรณีศึกษาการพัฒนานโยบายสาธารณะผ่านกระบวนการสมัชชาสุขภาพ ชุดแรก 5 จังหวัด คือสตูล ยะลา ตรัง กระบี่ และภูเก็ต ว่าด้วยประเด็นเด็กและเยาวชน

จังหวัดสตูล : การบูรณาการการพัฒนาคุณภาพเด็กเยาวชนและครอบครัว

นายสมยศ ฤทธิธรรมนาถ ตัวแทนจังหวัดสตูล กล่าวว่ากระแสสุขภาพแนวใหม่ เริ่มมีความเคลื่อนไหวในพื้นที่ราว 1 ปีที่ผ่านมา กระบวนการปฏิรูปทางสุขภาพ เกิดขึ้น และเชื่อมร้อยอย่างชัดเจน สตูลวางเป้าหมายของการขับเคลื่อจัดการตนเอง หรือพูดกับแบบภาษาถิ่นว่าจังหวัดแก้หราตนเอง นอกจากทุกภาคส่วนแล้ว กลไกศาสนาเป็นส่วนสำคัญ

นางกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง กล่าวว่า กระบวนการสมัชชา ได้ใช้แนวคิดในสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขานำมาใช้สำเร็จ ทุกภาคส่วนไม่ว่าการเมืองท้องถิ่น อย่างอบจ.มาให้ความสำคัญ เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม คนรากหญ้าได้เสนอสิ่งที่ตนเองต้องการ ขณะที่ภาคราชการ ก็ปรับท่าที หลายหน่วยงานเข้ามาร่วม มีการแก้ปัญหา จัดการร่วมประสานความร่วมมือ เกิดจากเวทีสมัชชา เกิดนโบายสาธารณะ และกระบวนการจัดการ

“ถ้าเราทำให้สังคมอยู่อย่างเป็นสุข ดูแลตัวเองได้ จะก้าวส่ปฏิรูปประเทศไทยง่ายดาย โดยคนรากหญ้า”

จังหวัดยะลา : การพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นเด็กและเยาวชน

นายสุวิทย์ ชูโชติ สำนักการศึกษา อบจ.ยะลา การพัฒนานโยบายสาธารณะประเด็นเด็กและเยาวชน มีการเชิญท้องถิ่นมาประชุมเพื่อระดมความคิด แลกเปลี่ยน ขอความร่วมมือจากท้องถิ่นให้รับสมัครเยาวชนเป็นสมาชิก ประชุมแต่ละอำเภอ ให้เขาคัดเลือกคณะทำงานแต่ละอำเภอมาทำงาน เมื่อได้ตัวแทนก็เชิญเยาวชนมาอบรม ให้รู้ภาระหน้าที่ ได้เยาวชนทั้งหมด จนได้ข้อเสนอของเยาวชนที่ต้องการคือเล่นกีฬา ในปี53 จึงเสนอข้อเสนอแนะ เรื่องนี้ให้กับผู้บริหาร ได้เห็นชอบตั้งงบประมาณซื้ออุปกรณ์กีฬาแจกทุกศูนย์ที่ตั้ง

การติดตามการทำงาน ได้ปัญหา ข้อเสนอแนะที่จะจะทำในปี 54

มาเรียม ชัยสันทนะ กล่าวว่ายะลา มีเป้าหมายในการพัฒนาชัดเจน มีหลายหน่วยงานที่เข้ามา ร่วมเป็นทีมงาน ค้นหาองค์ความรู้ทางกิจกรรมว่าจะทำอย่างไร ค้นหาสิ่งดีๆในหมู่บ้าน ที่ผ่านมาได้ทำหลายอย่างเช่น การทำหอกระจายข่าว จัดกลุ่มดูแลกันเอง น่าจะครบองค์รวม หลังทำแล้วมีองค์ความรู้ และภาคีที่จะเดินต่อไปข้างหน้า

จังหวัดตรัง : การพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและครอบครัว

นายสำราญ สมาธิ ตัวแทนจากกลุ่มอนุรักษ์ตรัง นำเสนอว่าทุกเรื่องถ้าไม่มีคนรุ่นใหม่มาสานต่อ อนาคตคงลำบาก สำหรับสังคมไทย สำหรับเครือข่ายเด็กและเยาวชน ได้รับอิทธิพลมาจากครูเปลื้อง คงแก้ว หรือเทือก บรรทัด นักเขียน และกวีผู้ล่วงลับ ได้สอนให้ทุกคนคิดนอกรอบจากห้องสี่เหลี่ยม พบว่า กระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนนั้นเราจะพบประสบการณ์สำคัญ

"เมื่อพบความจริงทำให้ค้นพบความงาม กลายเป็นความรักที่ถูกทอในหัวใจ ของคนในสังคม เราก็มาหาทางว่าทำอย่างไรให้ชุมชนดีขึ้น ซึ่งมติจังหวัดแก้ปัญหาสังคม โดยใช้เรื่องเด็กและครอบครัวเป็นฐาน"

จังหวัดกระบี่ : การแก้ปัญหาความรุนแรงเด็กและเยาวชน ตำบลเกาะกลาง

นายทวีชัย อ่อนนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพกระบี่กล่าวว่า การแก้ปัญหาความรุนแรงเด็กและเยาวชน ตำบลเกาะกลาง จังหวัดกระบี่ ด้านสังคมยกระดับให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น อย่างเช่น กายม ซึ่งนำมาแสดงให้เวทีสมัชชารับชมด้วย นอกจากนั้นยังส่งเสริมประเพณีที่ เข้าถึง ชาวพุทธและมุสลิม

“การดำเนินการที่ผ่านมา ได้สร้างกติกาการไม่สร้างความรุนแรงในเยาวชน ตั้งองค์การบริหารเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เชื่อมร้อยสู่กับเด็กและเยาวชนกลุ่มอื่น ยกระดับให้เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์”

จังหวัดภูเก็ต : การแก้ปัญหาน้ำหนักเกินและโรคอ้วนเทศบาลนครภูเก็ต

พญ.ทัศนีย์ เอกวานิช ผู้อำนวยการกองการแพทย์ เทศบาลนครภูเก็ต นำเสนอว่าจากการทำสมัชชา พบปัญหาว่าเชื่อมโยงกับปัญหา โรคอ้วนระบาดไปทั่วโลก และภาคใต้ครองแชมป์ ที่ภูเก็ตจึงพูดเรื่องอนามัย การกิน ออกกำลังกาย เชื่อมโยงกับประเด็นโรคอ้วนและเพื่อเชื่อมกับคนรุ่นใหม่ จึงได้เปิดเฟชบุ๊ค เกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

นางพรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้บริหารไทยทีวี วิทยากรผู้วิพากษ์ กล่าวว่า 20 ปีที่แล้วตนทำงานเรื่องเด็กมาตลอดฝันว่าประเด็นเด็กจะเป็นวาระแห่งชาติ แต่ทำมาจนตัวเองจะเกษียณในปีหน้าวาระของเด็กก็ยังไม่ก้าวไปถึงจุดนั้น สำหรับกรณีศึกษา 5 เรื่องในชุดแรก นางพรรณิภาใช้กรอบการมอง ว่า

  • สิ่งที่จังหวัดต่างๆ ทำมองถึงต้นทางของปัญหาเด็กหรือเปล่า
  • ตั้งโจทย์ปัญหาได้ชัดหรือเปล่า
  • อยากมองเห็นกระบวนการพัฒนาของแต่ละจังหวัดว่ามีกระบวนการพัฒนาอย่างไร รวมไปถึงกระบวนการสมัชชาที่
  • นำพาประเด็นนี้ไปสู่ความเป็นมนุษย์ได้หรือไม่

“ดิฉันขอชื่นชมจังหวัดตรัง มีแนวคิดชัด ตั้งแต่มองเห็นต้นทางของปัญหาว่าคืออะไร มองเห็นต้นทุน ทรัพยากร การสร้างมนุษย์ตัวเล็กๆ เป็น ประชาชน พลเมือง ที่มีความใส่ใจต่อบ้านเมือง” เธอกล่าวว่า สิ่งที่เห็นอย่างชัดเจนคือการเชื่อมโยงกับเครือขายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสริมพลังของเด็ก และความพยายามสร้างพื้นที่ดี

“ดิฉันได้อ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่ง (ดร.อมร)พบว่า ในสังคมไทยนั้นพื้นที่ชั่วมากกว่าพื้นที่ดี ที่จะให้เด็กสัมผัส เดินผ่าน เด็กบางคนบอกว่าการเดินทางระหว่างโรงเรียนกับบ้าน ผ่านพื้นที่ชั่วเยอะมากเลย”

นางพรรณิภากล่าวว่ากรณีตรังมาพบว่าในต้นทาง สาเหตุที่มาทำเรื่องเยาวชนเพราะมองเห็นปัญหาโครงสร้างทางการศึกษาอ่อนแอ นำมาเป็นโจทย์ในการสร้างกิจกรรมต่างๆ และไม่ใช่เด็กอย่างเดียว แต่โยงใยไปถึงครอบครัวด้วย กิจกรรมเน้นการพัฒนาการคิดของเด็กอย่างเป็นระบบ และทำอย่างต่อเนื่อง

จากการที่ทำงานทางด้านนี้มาเธอมองว่าโรงเรียนและพ่อแม่จะสัมพันธ์กับเด็ก เพราะฉะนั้นควรดึงมา ใช้ในการเสริมพลังของเด็ก

“ของตรังเป็นตัวอย่างที่มีการตั้งโจทย์ชัด และเชื่อมโยงกับโจทย์ของแผ่นดิน ให้คำตอบกับโจทย์ ไม่เช่นนั้นแล้วปัญหาของเด็กก็จะเป็นอยู่อย่างเดิม จะเห็นว่าเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มาถึงปัจจุบันปัญหาเด็กก็ไม่ได้คลี่คลายลงไป เพราะตั้งโจทย์ไม่ชัด และการกำหนดกิจกรรมไปตามแหล่งทุน”

กรณีสตูล นางพรรณิภากล่าวว่า มีการพูดถึงคำใหญ่ในประเด็นเด็กและครอบครัวเยอะมาก แต่ฟังแล้วยังไม่เห็นว่าสมัชชาสุขภาพโยงไปถึงเรื่องนี้ที่ตรงไหน ยังแผ่วมาก ยังมองไม่เห็นกระบวนการว่าทำอะไร

“อยากให้กำลังใจว่าสตูลมีนักพัฒนาเก่งๆ อยู่หลายท่าน น่าจะมานั่งสุมหัว ตีโจทย์ให้ชัด ดูว่ากระบวนการที่เหมาะสมที่จะจัดทำประเด็นเด็กที่สตูลจะทำอย่างไร ก็คงไม่เกินความสามารถ”

กรณียะลาพบว่าเด็กยะลาเสนอวิสัยทัศน์เอาไว้ดีมาก แต่กิจกรรม ที่จะนำไปสู่ภาพที่ต้องการให้เห็นอยู่ไกลๆ ที่จะไปให้ถึงพบว่ายังไม่สอดคล้องกัน

“วิสัยทัศน์มองว่าจะพาเด็กไปสู่ความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ ศักยภาพเด็กที่จะเป็นที่พึ่งพาของสังคมในอนาคต เด็กต้องมีความสุข แต่มองไม่เห็นกิจกรรม ว่าจะพาไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร”

เธอกล่าวว่า วิสัยทัศน์เหมือนตัวตั้งโจทย์ แต่ กิจกรรมนั้นยังไม่สอดคล้อง แต่หวังใจว่ากลุ่มฟ้าใส ที่ทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนมานาน ถ้าจะเติมกระบวนการเรียนรู้ และมีส่วนร่วมของเด็ก คงไม่ใช่แค่ เอาชื่อมาต่อๆกันให้ยาวแล้วจะบอกว่าเรามีเครือข่ายเยอะ แต่ทำอย่างไรให้เครือข่ายมีชีวิต มาร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน ในความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นความหมายแท้จริงของเครือข่าย

“สิ่งที่เด็กเสนอมาเยอะแล้ว ทำอย่างไรจะมีกระบวนการ เติมเต็มความเป็นมนุษย์ให้เขา เป็นภารกิจหลักของโลกยุคนี้ ตอนที่เราของทุนจากแหล่งต่างๆ มัมีกรอบมองอะไรเป็นรูปธรรม กลุ่มต่างๆก็ต้องทำเป็นรูปธรรม แต่ความดี ความงาม ความคิดสร้างสรรค์ หรือความเป็นมนุษย์ มันมอง ไม่เห็นว่ามีกี่ชิ้น มีมือ มีนิ้ว อย่างไร เรื่องเด็กจะมีความเป็นนามธรรมอยู่มาก อยากให้คนทำงานด้านเด็ก เอาจริงจังด้านนามธรรม”

การทำเรื่องเด็ก ซึ่งเป็นเรื่องพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ต้องใช้เวลานาน ยะลามีทุนทางสังคมมาก แต่ทำอย่างไรที่จะมารวบรวม ตั้งสติว่า โจทย์แผ่นดินคืออะไร แล้วจะเอาศักยภาพ ที่มีอยู่มาได้อย่างไร

กรณีภูเก็ตนางพรรณิภากล่าวว่ามองการแก้ปัญหาโรคอ้วน มองเห็นชัดว่าเป็นประเด็นทั่วโลก แต่การนำเสนอเป็นปัญหาใหญ่ ยังมองไม่เห็นกระบวนการที่ทำกับเด็ก แต่เชื่อมั่นว่าจะมีกระบวนการว่าจะให้เด็กเรียนรู้ เพื่อจะเปลี่ยน ปรับปรุงตัวเอง อย่างไร

“คิดว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาซับซ้อน เกี่ยวกันหลายฝ่าย อย่างเช่นที่โรงเรียนจัดกระบวนการได้ดีหมด แล้ว แต่กลับไปที่บ้าน พ่อแม่มีค่านิยมอีกแบบหนึ่ง ความพยายามจึงต้องเปิดประเด็นทั้งระบบคิดว่าไปถูกทาง กระบวนการทำงานกับเด็กไม่ใช่ให้เขารู้ แต่ต้องให้เขาเข้าใจ”

นายพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ นายกเทศมนตรีนครยะลา ร่วมเติมเต็มว่า

ทุกวันนี้ปัญหาที่เกิดขึ้น มาจากพื้นฐานปัญหาครอบครัว การทำงานเด็กถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ปกครองจะลำบากมาก เพราะต้องยอมรับว่าเด็กอยู่กับโรงเรียนไม่มากเท่ากับผู้ปกครอง

“ผมยินดีว่านักวิชาการได้เข้ามาร่วมบูรณาการในการทำงาน ซึ่งในการแก้ปัญหา เรายังหาปัญหาไม่พบก็จะเดินอย่างสะเปะสะปะ แก้ปัญหาใหญ่ไม่ได้”

ในเชิงวิชาการนั้นนายพงษ์ศักดิ์กล่าวว่า เรามีสถาบันวิชาการจำนวนมากที่สามารถมาทำงานร่วมกันสามารถบูรณาการมาทำงานร่วมกัน ซึ่งจะไปสู่การครอบคลุมในมิติต่างๆ

“หลักสูตรนั้นมักโฟกัสไปเรื่องใดเรื่องหนึ่งจริงๆ แล้ว งานแต่ละงานสามารถเชื่อมโยงไปได้ ในปัญหาเดียวกันเพียงแต่ว่าการวางน้ำหนักว่าเรื่องะไรมากขึ้น เพราะการแก้ปัญหาด้านใดด้านหนึ่งไม่สามารถแก้ปัญหาเฉพาะด้านได้”

โครงการเยาวชนรักบ้านเกิดของยะลาเขาเล่าว่าพยายามให้เยาวชน ที่มีความต่างด้านศาสนาอยู่ร่วมกัน

“ทุกวันนี้ความขัดแย้งไม่มากนักในการอยู่ร่วมกัน แต่ถ้าเยาวชนที่โตขึ้นมาโดยไม่มีกระบวนการเรียนรู้ ร่วมกันในการข้ามวัฒนธรรม ทำให้ภูมิคุ้มกันสังคมน้อยลง เพราะ ความขัดแย้งที่เกิด พบว่าเกิดจากขัดแย้งทางศาสนามากกว่าการเมือง ซึ่งในสังคมพหุวัฒนธรรม ต้องวางน้ำหนักเอาไว้ เอาเพื่อไม่ให้คน แบ่งแยกและเปิดกว้าง”

เขามองว่า สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญ หลายพื้นที่ของภาคใต้ต้องมาคิด เพราะ เมื่อมีความขัดแย้ง สุขภาวะไม่เกิด แต่ถ้าสงบสุข อย่างน้อยยังมีสุขภาวะทางใจ สำหรับการสร้างคนไม่เหมือนสร้างเมือง เพราะการสร้างคนไม่จบสิ้น ต้องคิดว่าจะต้องปลูกฝังอย่างไร อย่างที่ประเทศจีน ที่จะถามเด็กทุกวันว่าทำอะไรเพื่อประเทศชาติหรือยัง เป็นกระบวนการที่จะต้องทำอย่างต่อเนื่อง

กรณีศึกษาประเด็นสิ่งแวดล้อมและบทวิพากษ์

ระนอง : การอนุรักษ์พันธ์ปลาท้องถิ่น ตำบละอุ่นเหนือ

นายสุคนธ์ แซ่อุ๋ย ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 4 ตำบลละอุ่นเหนือ เล่าว่า ชุมชนใช้การอนุรักษ์พันธุ์ปลาเป็นตัวเดินเรื่องเพื่อเชื่อมร้อยไปสู่การอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติทั้งระบบ กระบวนการที่เกิดขึ้นใช้หลักธรรมในดารสร้างความเข้าใจ ทำให้ชุมชนเห็นคุณค่า และเสียสละเพื่อสร้างทานให้กับสรรพสิ่งที่มีชีวิต เป็นการสร้างสุขภาวะทางจิตวิญญาณ และความสมานฉันท์ในชุมชน และเป้นค่านิยมร่วมของคนทำให้นำไปสู่การแก้ปัญหาอื่นในชุมชน สุดท้ายกลายเป็นนโยบายร่วมของจังหวัด และเกิดการทำงานร่วมกันของชุมชนกังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

สุราษฎร์ธานี : การอนุรักษ์วังปลาคลองยัน

นายจำนง ประวิทย์และคณะเครือข่ายภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน ใช้กรณีการอนุรักษ์วังปลาคลองยันเป็นการแก้ปัญหา และกำหนดทิศทางการการพัฒนาโดยชุมชน และแสดงให้เห็นถึงมิติการใช้สมัชชาสุขภาพเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ต้องใช้ร่วมกับเครื่องมือและกระวบการอื่นๆ เพื่อเสริมพลังในการแก้ปัญหาของชุมชน

พังงา : การอนุรักษ์ดูแลลุ่มน้ำคลองพังงา

นำเสนอโดย นายสมยศ สิงหการ ครู กศน.พังงา และคณะคณะทำงานสมัชาสุขภาพจังหวัดพังงา ชุมชนสามารถร่วมมือร่วมใจกำหนดทิศทางและแนวทางของตนเองโดยเริ่มต้นจากกลุ่มเด็กและเยาวชนในหมู่บ้าน ร่วมกันทำกิจกรรมจนวันหนึ่งสามารถสร้างมาตรการในชุมชน ประกาศเขตป่าต้นน้ำ และปลูกป่า เป็นการดูแลคลองพังงาตลอดสายน้ำ และก้าวไปสู่นโยบายการจัดการน้ำที่ยั่งยืน

พัทลุง : การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง

ประพัฒน์ จันทร์อักษร อำมร สุขวิน และเทพรัตน์ จันทร์พันธ์ จากเครือข่ายเกษตรทางเลือก จังหวัดพัทลุง ร่วมนำเสนอ ซึ่งการอนุรัก์พันธุ์ข้าวพื้นเมือง เป็นตัวอย่างการทำงานร่วมกันระหว่างเครือข่าย หน่วยงานรัฐ ท้องถิ่น จนมีการผลักดันให้เป็นนโยบายทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

รศ.ดร.เริงชัย ตันสกุล ประธานสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา วิทยากรผู้วิพากษ์กล่าวว่า จากเดิมที่เราอยู่ในสภาพธรรมชาติ มีความอุดมสมบูรณ์ ป่ามีเยอะ อุดมสมบูรณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป หลังมีคำว่า การพัฒนา ความเจริญ ความมั่งคั่ง ความโชติช่วงชัชวาล มีถนนหนทางเกิดขึ้น มีคนมากขึ้น คนมีความต้องการมากขึ้น

“แต่ก่อนคนไม่มาก ความต้องการน้อย แต่ในปัจจุบัน คนมีความต้องการมากขึ้น เกิดความขาดแคลนและไม่เพียงพอ ในพื้นที่หลายแห่ง จึงพยายามรักษา ชุมชน พื้นที่ วัฒนธรรม ภูมินิเวศ ทำให้ชุมชนอยู่ได้”

ดร.เริงชัยกล่าวว่า วิธีการอาจต่างกันไป แต่ 4 โครงการที่นำเสนอในเรื่องนี้ ได้เอาปัญหาในพื้นที่เป็นตัวตั้ง พยายามใช้สิ่งที่มีอยู่รอบข้าง มาใช้ประโยชน์ เรามีทุนเดิม เรื่องประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ ต้องหารูปแบบที่เหมาะสมในปัจจุบัน เช่นกิจกรรมเครือข่ายอนุรักษ์ต่างๆ เกิดเป็นโครงการที่หลากหลายมากขึ้น มีการประสานงานรวมตัวของกลุ่มที่มีปัญหาเหมือนกัน

“ในที่สุดก็จะเกิดผลงานที่เกิดจากการทดลอง ใช้มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง มีการปรับเปลี่ยนไป เกิดปัญหา มีการแก้ปัญหา”

กรณีทั้งสี่เกิดปัญหาในพื้นที่ แล้ว ชุมชนและพื้นที่นั้นร่วมกันขยับแก้ปัญหาเอง โดยใช้สิ่งที่อยู่รอบตัว จนกระทั่งได้วิธีปฏิบัติ ได้กระบวนการ และได้วิธี ซึ่งเป็นสภาพปัจจุบันออกมา สามารถแก้ปัญหามาได้จนกระทั่งมาถึงปัจจุบันนี้ ซึ่งเรื่องนี้ ทฤษฎีทางวชาการต่างๆได้พยายามสอนแต่พบว่าในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ แต่การที่ ใน 4 โครงการนนี้สามารถยืนหยัดมาได้จนถึงปัจจุบันนี้น่าสนใจ ต้องตามดูรายละเอียดที่ยังมีอยู่อีกมากมาย ว่าเป็นอย่างไร ทำอย่างไร

ประธานสภาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ยังกล่าวว่า คนที่เรียนเกษตรอาจคิดแบบวิทยาศาสตร์เป็นหลัก แต่ตอนนี้ จะต้องเอาวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับสิ่งที่เป็นอยู่จริง ซึ่งมีกระบวนการมากกว่าวิทยาศาสตร์ อย่างสุขภาพได้พูดถึงความสุขทางกาย จิต สังคม จิตวิญญาณ นักวิทยาศาสตร์ต้องเข้าใจถึงจิตวิญญาณให้ได้

“ เราเคยอ่านว่าไอสไตน์ เข้าใจพระพุทธศาสนาได้ แต่เราไม่เข้าใจจริงว่า ไอสไตน์คิดอย่างไร จึงจะเข้าใจพุทธศาสนา ผมคิดว่า คนที่อยู่ในสายวิทยาศาสตร์ต้องเข้าใจเรื่องอย่างนี้มากขึ้น”

ดร.เริงชัยกล่าวว่า แต่ละโครงการมีความสำเร็จของตัวเอง ไม่เหมือนกัน แต่ทั้งหมดนำไปสู่ ความอยู่รอดของชุมชน ทำให้ชุมชนมีอาหารพอเลี้ยงชุมชน มีความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้น มีความมั่นคงทางด้านครอบครัว ในที่สุดสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ประสานให้เกิดเครือข่ายในชุมชนที่คล้ายกัน

ประเด็นสุดท้ายแม้ว่าเกิดความสำเร็จไม่ได้หยุดแค่นั้น ขณะที่กำลังเดินไป ได้ก่อให้เกิดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้ ไปสู่รุ่นต่อไป เกิดมาเป็นเครือข่าย ศูนย์เรียนรู้ กลุ่มเยาวชนต่างๆ จาก และจะเกิดการเรียนรู้ต่อไป ทำสิ่งที่สำเร็จขยายออกไปทั้งภาคใต้ เกิดเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

ดร.เลิศชาย ศิริชัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วิทยากรผู้วิพากษ์กล่าวว่าสิ่งที่น่าสนใจมากที่สุด ประการแรกแม้โครงการที่นำเสนอ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ถ้าดูทั้ง 4 เรื่องจะพบว่าผู้ที่เคลื่อนไหวกระบวนการชาวบ้านทั้งหมด

“เขาไม่ได้ทำเรื่องเล็กๆ แค่นั้น กล่าวคือไม่ได้อนุรักษ์พันธุ์ปลา เพื่อเอาประโยชน์จากวังปลา แต่เขาได้เคลื่อนไหวสิ่งเหล่านี้เพื่อเชื่อมโยงไปสู่สิ่งที่ใหญ่กว่า”

ประการที่สอง เขาคิดว่าทั้ง 4 โครงการ ใช้เรื่องอนุรักษ์เป็นเรื่องกระบวนการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือ หวังว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องการสร้างกระบวนการเรียนรู้ของคนที่ตกอยู่ในปัญหาต่างๆ ที่ไม่ใช่ปัญหาที่ตายตัว ไม่มีแบบแผนที่ตายตัวในการแก้ปัญหา แต่ทำอย่างไรที่ทำให้คนที่ประสบปัญหาวิกฤติ ในหลายด้านได้มีพื้นที่

“ถ้าเราทบทวนอดีตก่อนชุมชนจะมาสู่การพัฒนา พื้นที่ต่างๆมีพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกันอยู่มาก เราใช้ทรัพยากร ป่า น้ำ ทุ่งหญ้า ร่วมกัน จะมีระเบียบแบบแผนในการใช้ มีขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นสมบัติร่วมกัน พิธีกรรมร่วมกัน มีความทรงจำร่วมกัน เวลามีปัญหาจะหันหน้าเข้ามา แต่สังคมได้พัฒนาไปเป็นแบบการอยู่แบบตัวใครตัวมัน พื้นที่ร่วม สมบัติร่วมหายไป ผมจึงเห็นคุณูปการของ 4 โครงการที่ได้สร้างพื้นที่ร่วมเรียนรู้ร่วมกัน รับมือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่รุนแรง ชุมชนแบบนี้จึงจะอยู่ได้”

ประการที่สาม การที่ สจรส.มอ. ทำงานได้โดดเด่นมากในนโยบายสาธารณะ เขาคิดว่า กระบวนการเรียนรู้ร่วมกันนั้น เท่ากับการสร้างนโยบายสาธารณะร่วมกัน เขามองว่าเพราะนโยบายสาธารณะ ไม่ได้พูดถึงนโยบายใหญ่ระดับรัฐ อย่างเดียว หลายเรื่องเป็นนโยบายสาธารณะระดับชุมชน

“ชุมชนยุคใหม่ซ่อนอะไรไว้ เช่น การเห็นแก่ตัว แย่งชิงทรัพยากร จะซ่อนความขัดแย้งเอาไว้ แต่มองเห็นว่าหลายฝ่ายคุยกันเพื่อมาเป็นนโยบาย ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งของชุมชน หลายฝ่ายเห็นร่วมมากำหนดเป็นนโยบาย เห็นว่านโยบายสาธารณะของชุมชนเป็นเรื่องสำคัญ”

กลับไปมองชุมชนเห็นว่าหลายเรื่องที่ชุมชนไม่เอาธุระในหลายเรื่อง อย่างเช่นทรัพยากรธรรมชาติ ถ้าไม่เคลื่อนไหวให้คนในชุมชนได้เห็น เข้าใจ ในสิ่งที่กำลังทำ แนวทางที่จะคิดทำร่วมกัน จะมีคนทำงานอยู่คนเดียว แต่ถ้าผลักดันเป็นนโยบายสาธารณะในชุมชน จะทำร่วมกันได้

ดร.เลิศชายกล่าวว่า เรากำลังเผชิญหน้าอยู่กับความเปลี่ยนแปลง ยาง ปาล์ม การท่องเที่ยว ของชาวใต้เป็นทรัพยากรสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับคนนอกประเทศ ยังไม่นับโครงการที่จะเกิดขึ้นอีกมากมาย เราถูกแย่งชิงทรัพยากรทั้งทางตรงและอ้อม ขณะเดียวกัน คนยังถูกครอบงำด้วยกระแสการบริโภค เราต้องหาเงินมากขึ้น ร่วมอยู่ในกระบวนการแย่งชิงทรัพยากร ในยุคโลกาภิวัตน์ ปัญหามีอยู่แล้วจะทวีความรุนแรงหาก4 โครงการถ้าทำอย่างจริงจัง และมีการสนับสนุนอย่างจริงจัง เป็นกระบวนการของชุมชนที่จะเผชิญหน้ากับโลกาภิวัตน์ ทุกอย่างมีความยากลำบาก เพราะฉะนั้นจะอยู่ที่ว่าชุมชนจะสร้างความเข้มแข็งตนเองเพื่อฝ่าฟัน ปัญหาของยุคสมัยนี้ไปอย่างไร ถ้ามองแล้ว 4 โครงการนี้จะเป็นตัวอย่างได้

ประเด็นสุดท้าย ดร.เลิศชายแสดงข้อห่วงใย ว่าทำอย่างไรที่จะทำให้สิ่งที่เสนอในวันนี้เป็นภาพแห่งความจริง ไม่มีอคติ เพื่อหาทางต่อไป

“จากที่ผมไปสัมผัสหลายโครงการ พบว่าผู้นำ คิดว่าสิ่งที่คนอื่นอยากรู้ คือภาพสวยๆงามๆ จึงเป็นเสนอภาพแทนความจริง ซึ่งภาพเหล่านี้ เป็นมายาคติ คือการสร้างความจริงให้คนรับรู้ จนนึกว่าจริง ผมหวังว่า ทั้ง 4 โครงการจะหลุดจากตรงนี้”

ถ้าไม่หลุดจากวังวนนี้ ดร.เลิศชายมองว่า จะนำไปสู่ การแช่แข็งปัญหา หากยังอยู่กับปัญหาชุมชนเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แปลว่าไม่ได้พูดถึงปัญหาความเป็นจริงของชุมชนที่เป็นอยู่ ในปัจจุบัน จะหาทางออกไม่ได้

ข้อห่วงใย ต่อมา จะทำให้ความเปลี่ยนแปลงนี้ไปสู่ ความเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านจริงๆ

“ถ้าไม่จริง อย่างเช่นประชุม มีคนมา แต่พอไม่ประชุมคนก็จะหายไป ต้องพยายามทำให้เป็นวิถีชีวิตให้ได้ เข้าไปสู่ชีวิตจริงให้ได้”

ข้อห่วงใยสุดท้าย เขาข้อสรุปว่าทั้ง 4 โครงการ ทำให้ได้ข้อสรุปว่าในยุค ที่มีการเปลี่ยนแปลงรุนแรง การเคลื่อนไหวของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าการเคลื่อนไหวกระบวนการเรียนรู้ หรือเพื่อสร้างนโยบายสาธารณะขึ้นมา ฃในที่สุดแล้วคือการเคลื่อนไหวที่จะทำให้ ประชาชนได้เข้าใจว่า เขาคือใคร มีดีอะไร และจะใช้ของดี ของเด่นนี้ไปสร้างทางเลือก ต่อการเผชิญหน้าความเปลี่ยนแปลงอย่างไร

“ถ้าเขาไม่เข้าใจตรงนี้ เราจะไม่มีทางเอาชนะ ปัญหาอุปสรรคที่เราเผชิญได้เพราะเรา ไม่รู้ว่าอยู่ไหน การก้าวไปข้างหน้าได้ต้องยอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ยอมรับว่า คนในวัฒนธรรมกลุ่มต่างๆมีสิทธิที่จะเลือก ก้าวไปข้างหน้าอย่างสอดคล้องกับวิถีชีวิตของตัวเอง จะก้าวไปข้างหน้าแบบนี้ทำโดยสร้างความเข้มแข็งให้ตนเอง”

กรณีศึกษาประเด็นกองทุน และบทวิพากษ์

สงขลา : แผนสุขภาพจังหวัดสงขลา

นายชาคริต โภชะเรือง ตัวแทนสมัชชาจังหวัดสงขลาเล่าว่า ผลของกระบวนการสมัชาสุขภาพเกิดรูปธรรมมมากมายไม่เพียงแต่เป็นนโยบายและแปลงไปสู่แผนการปฏิบัติการ แต่บางพื้นที่สามารถยกระดับเป็นธรรมนูญสุขภาพ เช่น ที่ตำบลชะแล้ ขณะเดียวกันพยายามที่จะประกอบส่วนต่างๆ ที่เคลื่อนกันอยู่ในจังหวัด ให้มีจุดหมายที่ร่วมที่ชัดเจน โดยการสร้างความร่วมมือกับจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น วางเป้าหมายให้เกิดภาพจังหวัดสุขภาวะสงขลาพอเพียงภายในปี 2554

ชุมพร : ท้องถิ่นกับการจัดการสุขภาพตำบลบ้านควน

นายไพบูลย์ นุ้ยพิน นายก อบต.บ้านควน เล่าว่าได้ใช้ฐานวัฒนธรรมโดยเฉพาะประเพณีแข่งเรือ เป็นจุดร่วมในการรวมใจรวมพลังของคนในชุมชน เพื่อให้มีเวทีชุมชนทุกเดือน นำมาสู่การสร้างพื้นที่สร้างความคิดร่วมกัน นำเสนอทางออกให้ อบต. เพื่อสร้างสุขภาวะอย่างยั่งยืน

ปัตตานี : หลักประกันกองทุนสุขภาพ กองทุนแม่และเด็ก ตำบลนาเกตุ

ประภัสสร ขวัญกะโผะ ปลัด อบต.นาเกตุ และ กัลยา เอี่ยวสกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายสมัชชาสุขภาด จังหวัดปัตตานี นำเสนอว่า ใช้กลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบลเป็นตัวขับเคลื่อนการแก้ปัญหาอนามัยแม่และเด็ก เกิดจากกระบวนการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันของชุมชนและนำมาสู่การแก้ปัยหาเพื่อหาทางออกสุดท้ายผลักดัน เป็นนโยบายของ อบต. และนโยบบายร่วมของจังหวัด

นครศรีธรรมราช : อสม.สร้างสุขชุมชน ต.วังหิน

นายอภิสิทธิ์ รักดี นักพัฒนาชุมชน อบต.วังหิน เล่าถึงสมัชชา ว่าจิตอาสา เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เกิดข้อตกลงร่วม ในกระบวนการสมัชา กลายเป็นพันธะสัญญาทางใจ ที่สำคัญในการแก้ปัญหาของชุมชน จนกระทั่งเกิดเป็นความร่วมมือในการทำงานร่วมกับท้องถิ่น

นราธิวาส : การแก้ปัญหาที่ดินอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี

นายอัฮมัดมูฮัมหมัดยูนุสอับดุฮ มะยูนุ ผู้ประสานงานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ จังหวัดนราธิวาสเล่าว่า การแก้ปัญหาที่ดิน แสดงให้เห็นกระวนการต่อสู้ เพื่อแก้ปัญหาไม่มีที่ทำกินของประชาชนคนจนคนด้อยโอกาส การต่อสู้ ด้วยข้อมูล เอกสารหลักฐาน กระบวนการรวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ ทำให้เกิดการเรียนรู้อ่างมหาศาล เป็นสุขภาวะทางปัญญา และเป็นกระบวนการที่สร้างความเป็นธรรมในสังคมด้วยเช่นกัน

สุรีย์ เจียมศุภฤกษ์ ผู้จัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพ เทศบาลนครสงขลา วิทยากรผู้วิพากษ์กล่าวว่า ชื่นชมว่า 5 กลุ่มที่เกี่ยวกับกองทุน มีความพยายามทำได้อย่างยอดเยี่ยม โดย ทำอย่างไรให้ประชาชน เข้าใจ ดูแลสุขภาพ มีกระบวนการอย่างไร และกองทุนหลักประกันสุขภาพ ที่เข้าไปยังพื้นที่เต็มแล้ว

กรณีชุมพรได้มองกระบวนการสุขภาพ ได้หยิบยกเอาจากเรื่องแข่งเรือเปลี่ยนมาเรื่อยๆจนสามารถออกเป็นระบบต่างๆ ที่ให้คนไปจัดการสุขภาพได้ถึง 7ระบบ นับว่าไม่ง่าย ถือว่าคนที่ทำมีความสามารถ คิดระบบ และวางคนจัดระบบ ได้

“การนำอสม.ไปจัดระบบสุขภาพ อันนี้ถือว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่ การจัดระบบดังกล่าว การติดตาม และความต่อเนื่องก็สำคัญ”

กรณีปัตตานี มีเรื่องกองทุนหลักประกันสุขภาพชัดเจน มีกระบวนการสร้างนโยบายและขับเคลื่อนโดยเน้นประเด็นไปที่ เรื่องของการมีปัญหาในพื้นที่ เพราะปัญหาอนามัยแม่และเด็กเป็นปัญหาระดับประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ สงขลา

“ คิดว่าการทำปัญหานี้ ถ้าจะทำให้ได้ผลต้องทำเชิงรุกและดึงดูดให้เขามาทำ ต้องใช้กระบวนการประชาสัมพันธ์ และใช้ทุนทางสังคมมากมาย การให้องค์ความรู้สำคัญ เพราะจะทำให้เข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง ใช้กองทุนหลักประกันสุขภาพฃไปเคลื่อนเห็นด้วย”

กรณี นครศรีธรรมราช พยายามสร้าง อสม. ที่มีบทบาทหลายหลาก สามารถเป็นจิตสาธารณะ หรือแม่บ้าน ช่วยงานสาธารณสุขได้อีกมากมาย ทำให้เกิด กิจกรรมต่างๆขึ้นมากมาย อสม.ที่ทำมาได้พัฒนาในหลายรูปแบบ กระบวนการนี้จึงเหมือนสร้าง อสม. แต่ ต้องขยายไปยังจุดอื่นๆ

“แต่ละกลุ่มกล้าหาญ ที่สร้างประเด็นเหล่านี้ขึ้นมา สร้าง คิด หาแนวร่วมมาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งแนวร่วม มีหลากหลาย กระบวนการนี้ น่าจะดี เพราะปัญหาระดับพื้นที่ ต้องอาศัยคนที่เข้าใจพื้นที่ มีอำนาจ ส่วนองค์วามรู้ต้องเติมเต็ม อย่างกฎหมาย ก็จำเป็น”

สุรีย์กล่าว และว่าสำหรับกรณีสงขลาชัดเจนเรื่องสมัชชา เพราะทำมาพอควร ใช้กระบวนการแบบผีเสื้อขยับปีก ทั้งประเด็นและ พื้นที่ และใช้แผนสุขภาพมาทำงาน เป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะว่า มีความชัดเจนในการทำงาน สุดท้ายจะแก้ปัญหาในพื้นที่ตรงกับความต้องการชาวบ้าน แต่ต้องดูว่าผีเสื้อขยับปีกไปแค่ไหน

นายแพทย์ธีรวัฒน์ กรศิลป ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 12 วิทยากร ผู้วิพากษ์กล่าวว่า ทำงานภาครัฐมา 20 กว่าปี สิ่งหนึ่งที่เรียนรู้มา การแก้ปัญหาของประชาชนโดยภาครัฐ ในปัจจุบันทำได้ยากมาก

“อย่างที่ อ.เลิศชายบอกว่า ประเทศโตขึ้น มีความซับซ้อน มากขึ้น การที่จะแก้ปัญหา หรือดูแลคุณภาพชีวิตโดยภาครัฐคงเป็นไม่ได้อีกต่อไป ทั้ง รัฐและ อปท.ภาคประชาชน จะมีบทบาทอย่างโดดเด่นแทน”

เขามองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมอง เห็นความหวัง แต่อย่างไรก็ตาม จะมีคำพูดที่เกี่ยวข้อง อย่างสมัชชาสุขภาพ ทำอย่างไรมารู้ร่วมกัน ร่วมสำนึก หลังจากนั้นมาร่วมคิด สำนึกในความรู้สึก ร่วมทำ ซึ่งเป็นขั้นตอนของระบบ ความสำเร็จก็ร่วมชื่นชม ไม่ใช่ทำอะไรไม่รู้ ไม่ทราบ หรือเลิกไปเสีย ต้องร่วมตลอด

ทั้งหมด เป็นกระบวนการมีส่วนร่วมของแงประชาชน แต่ เขามองว่าสมัชชาเป็นกระบวนการอันหนึ่ง ซึ่งขับเคลื่อนพลังทางสังคม ที่รวม ภาควิชาการ สังคม และการเมืองเข้ามาด้วยกัน

เป็นการเคารพ ให้เกียรติ แต่ละภาคส่วน มีศักดิ์ศรีอยู่ในสังคมนั้นๆ ไม่มีใครเก่งกว่าใคร แต่ทุกคน เป็นสมาชิกของสังคมนั้นมาร่วมกัน ไม่มีเจ้านาย ลูกน้อง ไม่มีใครสั่งใครได้ เป็นการร่วมคิดร่วมทำ ร่วมสำนึก ร่วมชื่นชม เป็นประชาธิไตยแบบมีส่วนร่วม

นายแพทย์ธีรวัฒน์ กล่าวว่ากระบวนการนี้ ทำให้เกิดนโยบายบางอย่างที่ทำให้มี ส่วนได้เสียนำไปปฏิบัติตามหน้าที่ตนเอง นำมาสรุป สุดท้ายจะมาเป็นนโยบายบางอย่างมาร่วมชื่นชมกัน เป็นสมัชชาสุภาพที่สวยงาม ส่วนจะทำระดับไหน ประเด็นหรือพื้นที่แล้วแต่ เชื่อว่าการปรับเปลี่ยนเรื่องแบบนี้ ทางสุขภาพ น่าจะมี 3 เรื่องใหญ่ๆ

  • ปัจเจกบุคคล
  • สิ่งแวดล้อม
  • ระบบบริการ

“3 อย่างนี้เป็น ปัจจัยใหญ่ๆในการที่จะขับเคลื่อน ทั้งหลายของการดำเนินการ ผมยังเห็นว่าอย่าให้มีมายา ต้องเป็นจริงในพื้นที่ให้ได้ และอย่างมัวแต่ชื่นชมกับความสำเร็จเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ต้องก้าวต่อไป ซึ่งทุกคนน่าจะคิดตรงกัน”

กรณีสงขลานายแพทย์ธีรวัฒน์ เห็นว่าดูภาพดีเหมือนสมบูรณ์ แต่หลายปีที่ผ่านมา ในเชิงประเด็น พื้นที่ ที่น่าเสียดาย ประเด็นที่สมัชชาได้คุยและเอาเรื่องเหล่านี้ นำมาช่วยกันปฏิบัติ เพื่อให้เกิดมรรคผลกับพี่น้องที่เป็นสมัชชา สุขภาพ มาช่วยคนละไม้ละมือ คือยังขาดตัวละครบางตัว คือ ระบบบริการ ถ้าเชื่อมกันได้ จะสวยหรู

“ตัวละครสำคัญอีกตัวคือปัจเจกบุคคล ทำอย่างไรให้ชาวสงขลา เข้าใจถึงประเด็น และกระบวนการสมัชชา หรือไม่เข้าใจสมัชชาขอให้เข้าใจว่าขณะนี้นโยบายของคนสงขลา ว่ามีอะไรเรื่องสุขภาพ อย่างมี 2-3 ใหญ่ๆ อย่างคนสงขลาต้องดื่มไม่ขับ ฯลฯ ต้องช่วยประโคม ขับเคลื่อน”

กรณีปัตตานี แสดงให้เห็นว่า ประชาชนยังไม่มีความรู้ ในเรื่องอนามัยแม่และเด็ก ประเด็นจึงกลับมาที่ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข มองเหมือนว่าถูกชี้นำ จากเจ้าหน้าที่รัฐ

“ผมมองว่ากระบวนการสมัชชาดูสวยงาม กระบวนการข้างในดูสวยงาม ประเด็นที่ชูขึ้นมา มีบางอย่างไม่ใช่ปัญหาสุขภาพ แต่ปัญหาของสถานีอนามัยหรือเปล่า”

กรณีชุมพร เขาเห็นว่า มองไม่เห็นกระบวนการสมัชชา ใน 7 ระบบ และเห็นว่า มักมีคำว่า “ อบต.มีแนวคิด ...” ดูแล้วเหมือนกับ อบต.เด่นเกินไป กลายเป็นนโยบายของ อบต. อยากให้ปัญหาที่เกิด เป็นปัญหาของคนในชุมชน กระบวนการที่เกิดจากประชาชน และนำเสนอไปสู่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วน อบต.จะประกาศอะไรเชิงนโยบายต้องทำต่อ

กรณีนครศรีธรรมราช สวยหรูในเชิงประเด็นว่าจะพัฒนา อสม.อย่างไร เพื่อทำให้เป็นหลักที่จะ ทำสุขภาพประชาชนในเขตบางขัน ก็ช่วยกัน แต่ทำอย่างไรให้ อสม. มีบางอย่างเป็นที่พึ่ง เป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับภาคประชาชน แต่สิ่งที่ต้องทำต่อคือผู้ประเมินว่าที่ทำแบบนี้ อสม.ที่ได้มีคุณลักาณะอย่างนั้นจริงหรือไม่

“อยากบอกว่าสุขภาพประชาชนจะดี ไม่ได้พึ่งหมอ หรือ อสม. แต่มีหลายส่วนที่ต้องมาร่วมมืออย่างจริงจัง ไปดูว่าที่ทำแล้วได้ อสม.ที่หวังหรือไม่ ถ้าดีจริง ทำไมไม่ทำ อสม.อยู่ในทุกบ้าน หรือทุกคนเป็นอสม.จะวิเศษทำไมไปหยุดแค่ 1 ต่อ 15 หลังคาเรือน ถ้าทำได้ต้องก้าวต่อ”

กรณีนราธิวาสนายแพทย์ ธีรวัฒน์ กล่าวว่าสุขภาวะไม่ใช่กายอย่างเดียว ความเดือดร้อนของพี่น้องที่บูโด คงกระทบหลายส่วน การใช้สมัชชาขับเคลื่อน แต่มีประเด็นอื่น อย่างที่ดินทำกิน หรือความมั่นคง จึงขอเป็นกำลังใจ

บทสังเคราะห์ภาพรวมสมัชชาสุขภาพภาคใต้

อาจารย์กรรณิการ์ บันเทิงจิตรรองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีศึกษา 14 จังหวัด ว่า

ทุกจังหวัดแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงทุกกภาคส่วน ท้องถิ่นเข้ามาเคลื่อน ภาคราชการมีมากขึ้นแม้ ไม่มากนัก

“กรณีอย่างนโยบายเด็กและเยาวชนทำอย่างไรทำให้กลไก คณะทำงาน ผู้ใหญ่ มาหนุนเด็ก ให้สองขบวนไปด้วยกันอย่างกลมกลืนไม่ใช่ ใครไปเพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ต้องมองการพัฒนาเด็กเชิงระบบ มองเป็นระบบไม่ใช่แยกกันทำ ต้องปรับวิธีคิดกันใหม่ และสิ่งสำคัญคือสิ่งที่คิดทั้งหมด จะนำไปปฏิบัติย่างต่อเนื่องได้อย่างไร ให้เป็นจริงต่อเนื่องด้วย”

อาจารย์กรรณิการ์กล่าวว่า การพัฒนานโยบายสาธารณะ ร่วมกันโดยเคารพในความเป็นศักดิ์ศรีมนุษย์ สิ่งที่ทำมาเข้าใจว่าพัฒนาขึ้นเยอะ แต่จริงไม่จริง ต้องดูต่อไป

เท่าที่มามีคณะกรรมการสมัชชาสุขภาพที่ค่อนข้างสมบูรณ์แบบ ตามหลักยุทธศาสตร์ 3 ภาคส่วน สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา ค่อนข้างครบถ้วนอาจขาดด้านวิชาการ ซึ่งยังน้อยอยู่ ยกเว้นบางจังหวัดเช่นสงขลา จึงต้องหาทางว่าจะทำอย่างไร

“ใน 5 ตัวจิ๊ดจะพบว่านักจัดการ เก่งมาก นักประสานงานเครือข่ายที่ดี สามารถประสานงานได้ทุกระดับ นักวิชาการ ส่วนใหญ่มีแต่ไม่มากนัก นักยุทธศาสตร์ที่จะมองว่าจังหวะนั้นควรเข้าไปหาใคร จะใช้วัฒนธรรมศิลปินมาเดินเรื่องอยู่ที่นักยุทธศาสตร์และมีนักสื่อสารทางสังคม ซึ่งแต่ละจังหวัดภาคใต้มีความชัดเจนในเครือข่ายสื่อ”

อาจารย์กรรณิการ์กล่าวว่า สจรส. มอ.จะมีหลักสูตรปริญญาโท ด้านพัฒนานโยบายสาธารณะถ้า 14 งหวัดจะส่งคนทำงานหรือเยาวชนรุ่นใหม่ โดยอาจให้ อบต.สนับสนุน หรือกลไกจังหวัดส่งมาเรียนถือว่าเป็นการเติมเต็ม

“เป็นเรื่องใหม่ แต่เดิมทางการสั่งมาอย่างเดียว เราก็ทำไป แต่ทุกวันนี้มีการทำงานจากพื้นที่ จาก 3 ภาคส่วน ต้องปรับกบาลทัศน์ใหม่ ถ้าสามารถมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ก็ถือว่าเป็นห้องเรียนใหญ่ นี่ห้องระดับภาค พอไปสมัชชาระดับชาติ ก็จะเป็นห้องเรียนเวทีชาติ ถ้าต้องการเรียนลึกก็ต้องเรียนนโยบายสาธารณะ ขณะนี้ สจรส. เปิดรับ ปริญญาโท ในพื้นที่มาเรียนได้ สามารถพัฒนาศักยภาพทีมงาน”

การทำงานได้นอกจากกลไก ยังมีการจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบ การประชุมวันนี้ ก็เป็นระบบ ซึ่งกว่าจะได้มา จากแต่ละจังหวัด มีการถอดบทเรียน มีการประชุมอย่างต่อเนื่อง อาจารย์กรรณิการ์มองว่า ลักษณะอย่างนี้ ซึ่งเป็นการประชุมอย่างสม่ำเสมอ หรือสังฆะ จะเกิดการทำงานร่วมกัน หลายมิติ ทำให้เดินไปพร้อมกัน ไม่ใช่มุบมิบกันทำ ต้องสร้างความเป็นธรรมเรื่องเหล่านี้ ข้อมูลที่มีอยู่ต้องแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้มากที่สุด มีการจัดกระบวนการอย่างเป็นระบบ กระบวนการบนฐานความรู้

“สิ่งที่นำเสนอนี้เป็นภูมิปัญญาของเราทั้งสิ้น นักวิชาการอาจมาช่วยแต่ความรู้อยู่ที่ท่านทั้งหลาย”

ภูมิปัญญาเป็นสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ สำหรับการยกระดับ ถ่ายทอดและคืนสู่ท้องถิ่น ที่ผ่านมาเชื่อฝรั่งมากไป เชื่อหลักสูตรต่างประเทศ วันนี้ต้องพลิกกลับ คิดใหม่ มาเรียนรู้ท้องถิ่นให้มากทำให้มีพื้นที่ร่วมกัน

“ อย่างพังงา มี 3 วัย ใช้แม่น้ำมาเป็นตัวเดินเรื่องให้คน 3 วัยมาพบกัน จะเป็นพื้นที่ดีเข้ามา ทุกฝ่ายเขามาแลกเปลี่ยนอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ เสมอภาค ไม่ได้แบ่งแยกว่าอยู่ภาคไหน นี่คือการเคารพศักดิ์ศรี หัวใจความเป็นมนุษย์ ซึ่งสมัชชาสุขภาพจะเน้นตรงนี้” นอกจากนั้นต้องมีประเด็นที่ชัดเจนสามารถพัฒนาเป็นโยบายสาธารณะ ได้ หรือสอดคล้องกับธรรมนูญสุขภาพ(ส่วนขยายความ ของ พรบ.สุขภาพ )ได้ก็จะดี ที่พบอยู่ยังไม่ได้เชื่อมโยงกับธรรมนูญสุขภาพสักแต่ หลายพื้นที่เอาธรรมนูญสุขภาพมาเป็นกรอบคิดในการทำงานแล้ว

อาจารย์กรรณิการ์กล่าวว่า การค้นหาประเด็นนโยบายสาธารณะทั้ง 14 ประเด็น บางส่วนชัดเจน แต่บางส่วนยังกว้าง ซึ่งประเด็นกว้างได้ข้อเสนอกว้างยากแก่การปฏิบัติและเป็นจริง จึงเสนอแนะว่าทำอย่างไรให้ประเด็นชัดเจนโดยต้องเลือกประเด็นของพื้นที่ ไม่ใช่ปัญหาของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง บางประเด็นเป็นของหน่วยงาน ถ้าผลักเป็นประเด็นสาธารณะได้ก็จะยิ่งดี

“ทุกฝ่ายจะร่วมเป็นเจ้าของได้ พอเป็นมติแล้วจะนำไปสู่การผลักดันที่เป็นจริงเพราะมีเจ้าของ เจ้าภาพ วันนี้ ดีใจว่ามีประเด็น มีเจ้าภาพชัดเจน มีตัวจริง เสียงจริง แต่ต้องดูระยะยาว” อาจารย์กรรณิการ์ทิ้งท้ายโดยท้าทายสมัชชาสุขภาพภาคใต้ ถ้าอยากเจอกันอีกในปบบสมัชชาสุขภาพภาคใต้ ทุกจังหวัดต้องกลับไปพิจารณาว่า กลไกภาคกับจังหวัดจะได้คุยกัน เพื่อเป็นห้องเรียนระดับภาคอย่างไร มีความรู้มากกว่าเดิมไหม หรือเอาความรู้ที่ได้จากปีนี้ ขยายผลต่อไหม เกิดผลในเชิงนโยบายสุขภาพ ต่อคนในจังหวัดอย่างไร

นายสมพร ใช้บางยาง อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะ ประธานสมัชชาสุขภาพภาคใต้ กล่าวว่าสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา การมีส่วนร่วมไม่ได้ขับเคลื่อนในระดับล่างอย่างเดียว

“การปฏิรูประเทศเราพูดกันมาในวงที่เป็นห่วงบ้านเมือง ได้คุยกันมาเกือบ 2ปี มีหมอประเวศเป็นประธาน รวมทั้งพูดสมัชชาสิ่งที่ผลักดันคือ ทำให้ภาคประชาชนซึ่งเป็นฐานที่เข้มแข็ง อีกส่วนเป็นองค์กรที่ต้องขับเคลื่อนใกล้ชิดประชาชน คือ อปท. มีหน้าที่ คน เงิน สองส่วนนี้เป็นฐานสำคัญ”

นายสมพรกล่าวว่าแนวคิดกระจายอำนาจ คือหัวใจการปฏิรูปประเทศไทย สิ่งที่ขับเคลื่อน กลไกที่ทำ ยืนยันว่าไม่โดดเดี่ยว พลังจะมากขึ้นเพียงแต่ต้องปรับวิธีคิดใหม่เพื่อปรับเปลี่ยนสังคม

ฐานประชาชนต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิด ขณะที่กลไก และกระบวนการปรับเปลี่ยนมากแล้ว และมองไปถึงเป้าหมายว่าจะทำอย่างไรให้กระจายครบ 60 กว่าล้านคนให้ได้ นั่นคือสิ่งที่ขับเคลื่อนต่อไปอย่างอดทน

อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ระบบราชการมาร่วมน้อย เพราะราชการมีอำนาจ หวังให้คืนอำนาจเลยคงยาก วันนี้ ยิ่งลำบาก เพราะราชการ เพราะไปจับมือกับภาค การเมือง และธุรกิจ เสวยสุขกัน อยู่ แสวงหาประโยชน์เพื่อตัวเองและกลุ่มพรรคพวก

“จะหวังให้เขาคลายอำนาจรับฟังชาวบ้าน ขณะที่เขาเคยค้ำหัวเป็นนาย ในความรู้สึกเขา ถ้าเราไม่ทำอะไร ไปยอมตามในระบบประชาธิปไตยเราก็คง ไม่สามารถปรับเปลี่ยนปฏิรูปประเทศไทยได้ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำไม่ได้เกิดเฉพาะสมัชชาสุขภาพ แต่จะเกิดการปฏิรูปประเทศ ได้ด้วย เราเดินทางมาถูกแล้วและจะก้าวต่อไป”

นายสมพรกล่าวว่า อยากให้ทุกคนคิดในสิ่งที่เป็นไปได้ก่อน อย่าคิดการใหญ่ในสิ่งเป็นไปไม่ได้ เพราะอาจท้อถอยหมดกำลังใจ เพราะจริงแล้วสิ่งที่เกิดเป็นจริงเกิดจากจุดเล็ก อย่างท้องถิ่นกับชุมชน เป็นหัวใจของฐานประเทศ ต่อไปประชาชนต้องพยายามเสดงพลังให้ราชการถอยอยู่แถวสองประชาชนนำ เป็นสิ่งที่ต้องมาคิดและทำกันใหม่ แต่ต้องยืนบนความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคมส่วนรวมด้วยกัน

“คิดอย่างนี้สังคมจะเปลี่ยนได้ เราอย่าหวังให้คนอื่นเปลี่ยน คนที่มีอำนาจ เขาไม่เปลี่ยนหรอก ไม่ว่าข้าราชการกระทรวงไหน น้อยคนที่คิดจะเปลี่ยน สิ่งที่เราต้องทำเอง ด้วยความอดทน”

สิ่งที่ทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้เลยคือต้องผลักดัน นโยบาย หรือสิ่งที่คิดไปสู่นโยบายของชุมชน เป็นนโยบายของท้องถิ่นให้ได้ เข้าไปสู่แผนให้ได้ การเคลื่อนนี้ ปฏิเสธท้องถิ่นไม่ได้ ต้องการทำงานในระดับฐานราก ไปด้วยกันให้ได้ ระหว่างท้องถิ่นกับชุมชน และ ท้องที่ สิ่งสำคัญ อย่าให้คนอื่นขับเคลื่อนเรา ต้องสร้างพลังของเราไปขับเคลื่อนคนอื่น

นายสมพรกล่าวต่อว่าการขยายภาคี จากหนึ่งเป็นสิบ เป็นร้อย เป็นหมื่น เราปฏิเสธคนอื่นไม่ได้ แม้แต่ในสังคมที่ไม่เห็นด้วยกับเราต้องทำให้เขาเห็นด้วยให้ได้ ต้องเอามาเป็นเพื่อน พวกให้ได้ด้วยวิธี ชี้แจง อะไรแล้วแต่ ต้องทำด้วยความอดทน บนพื้นฐานของความร่วมมือ ในภาคใต้เรามีท้องถิ่นดีๆเยอะ ที่ประสบความสำเร็จ เช่นเทศบาลตำบลปริก เป็นส่วนหนึ่งมี่ศึกษาได้

และทั่วภาคใต้มีแหล่งเรียนรู้อยู่ทั่วไปหลายแห่ง

“ผมยืนยันว่าแนวโน้มกระจายอำนาจจะเป็นไปตามทิศทางนี้ เพราะประเทศทีเขาเจริญแล้วปกครองโดยระบบอบประชาธิปไตย การคืนอำนาจให้ประชาชน กระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็นคำตอบสุดท้าย ช้าหรือเร็วอยู่ที่กระบวนการท้องถิ่นและชุมชนที่จะร้อยเรียงผนึกกำลังกัน ตอบสนอง แก้ปัญหา ว่าจะสร้างสุขภาวะได้มากน้อย เร็วช้าขนาดไหน เสียงข้างล่างต้องดัง ตรงนี้อยากยืนยันในแนวทางนี้ เราจะร่วมขับเคลื่อน อดทน ใช้เวลา ใจของพวกเราที่มั่นคงแน่วแน่ คิดสร้างสรรค์ แง่บวก”

นายสมพรกล่าวและว่าอยากเห็นกระบวนการ กลไก การดำเนินงานในเรื่องนี้ ของสมัชาสุขภาพภาคใต้เป็นต้นแบบของประเทศในการปฏิรูปประเทศไทยและเป็นฐาน สังคมเป็นฐานที่เข้มแข็งสำหรับเป็นตัว อย่างกับภูมิภาคอื่นในที่สุด

…………….

ทักษิณถิ่นสยามแดนด้ามขวาน
เป็นถิ่นที่สุขศานต์นานสมัย
เนิ่นนานครันนับพันปียุคศรีวิชัย
มีเมืองใหญ่ไชยาสุราษฏร์ธานี

ใต้ลงมานครศรี ฯมีอำนาจ
สืบศาสนาพระชินสีห์
พัทลุงสงขลาปัตตานี
นราฯมีราชนิเวศน์เขตสำคัญ

เมืองยะลาน่าอยู่ดูสะอาด
มีบทบทหลายอย่างล้วนสร้างสรรค์
ตรังกานู ไทรบุรี ที่ผูกพัน
สตูลและกลันตันสัมพันธ์มี

ไทยชวามลายูรู้ทั่วถิ่น
เป็นแดนดินที่ประจักษ์เด่นศักดิ์ศรี
มีศาสนาพุทธสุดยินดี
ฮินดูมีอิสลามคริตส์ตามมา

จากชวามลายูถึงสุราษฎร์ฯ
หลายเลือดเนื้อเครือญาติหลากศาสนา
จะนับถือศาสนาใดใจศรัทธา
มีมหาราชาศูนย์รวมใจ

ขอชาวพุทธอิสลามสามจังหวัด
ได้ปฏิบัติศาสนกิจวินิจฉัย
ทำหน้าที่ดีงามความเป็นไทย
อย่าให้ใครมารุกรานด้ามขวานทอง

มหากษัติริย์คือสมบัติที่ยิ่งใหญ่
เป็นศูนย์รวมร่วมใจไทยทั้งผอง
ตั้งแต่สุโขทัยถึงรัตนโกสินทร์ถิ่นแหลมทอง
โลกยกย่ององค์กษัตริย์นักพัฒนา

พระมหาภูมิพลอดุลยเดช
เปล่งประเทศช่วยดูแลแก้ปัญหา
กรณียกิจคิดช่วยเหลือเพื่อประชา
ทรงพัฒนาปวงราษฎร์นำชาติไทย

สิบหกปีที่พระองค์ทรงครองราชย์
นำไทยชาติก้าวหน้าไม่ล้าสมัย
ภายใต้พระบารมีที่เกรียงไกร
ช่วยปกป้องผองไทยปราศภัยพาล

ปัญหาเรื่องแดนดินถิ่นภาคใต้
เราควรได้ร่วมกันแก้ปัญหา
ความขัดแย้งทางการเมืองต่อเนื่องมา

เดิมการปกครองของข้าราช
ใช้อำนาจขาดกตระหนักในศักดิ์ศรี
ไม่พยายามหาทางสร้างไมตรี
การกดขี่สร้างปัญหามานานครัน

ที่ปักษ์ใต้ชายแดนแสนหม่นหมอง
เพราะพี่น้องต่างศาสน์เกิดหวั่นไหว
แต่ก่อนเราเราร่วมวงร่วมพงศ์พันธุ์
อาจต่างกันเพราะความคิดต่างจิตใจ

ความต้องการทางการเมืองเรื่องอำนาจ
มีผู้ฉวยโอกาสวางเงื่อนไข
ยุให้เราเกิดปัญหาไทยฆ่าไทย
ยังไม่รู้ว่าผู้ใดเป็นตัวการ

ขอเสนอโครงการทางด้านศิลป์
ใช้ศิลปินมาอำนวยช่วยประสาน
เพราะเป็นสิ่งที่มีค่ามายาวนาน
ศิลปินพื้นบ้านงานสำคัญ

มีหน้าที่ดีเด่นผลเห็นชัด
เราถนัดสร้างสนุกเกิดสุขสันต์.

บทกวีจากสุนทร นาคประดิษฐ์ ตัวแทนสมัชชา นำเสนอในเวทีสมัชชาภาคใต้ ก่อนช่วงสุดท้ายเวทีของวันที่ 12 ตุลาคม 2553

โดย ถนอม ขุนเพ็ชร์

Relate topics

แสดงความคิดเห็น

กรุณาป้อน Username / Password ที่ท่านได้ลงทะเบียนไว้กับเว็บไซท์แห่งนี้ หรือ สมัครเป็นสมาชิกของเว็บไซท์
Bold Italic Underline Left Center Right Ordered List Bulleted List Horizontal Rule Page break Hyperlink Text Color :) Quote
คำแนะนำ เว็บไซท์นี้สามารถเขียนข้อความในรูปแบบ มาร์คดาวน์ - Markdown Syntax:
  • วิธีการขึ้นบรรทัดใหม่โดยไม่เว้นช่องว่างระหว่างบรรทัด ให้เคาะเว้นวรรค (Space bar) ที่ท้ายบรรทัดจำนวนหนึ่งครั้ง
  • วิธีการขึ้นย่อหน้าใหม่ซึ่งจะมีการเว้นช่องว่างห่างจากบรรทัดด้านบนเล็กน้อย ให้เคาะ Enter จำนวน 2 ครั้ง